เมื่อวันที่ 2 พ.ค. เวลา 07.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตธนบุรี เขตคลองสาน และเขตจอมทอง เริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ตลาดเสสะเวช ตลาดวงเวียนใหญ่ ถนนเจริญรัถ ตลาดจอมทอง ซอยจอมทอง 16 พูดคุยกับผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ภูมิใจการ์เด้น บริเวณพระราม 2 ซอย 28 แยก 18 และชุมชนริมคลองบางประทุน

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ หลายคนสะท้อนปัญหาตรงกันคือเรื่องค่าครองชีพสูง ค่าน้ำมันแพง แม้ว่า กทม.จะไม่สามารถช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพได้โดยตรง แต่กทม.จะต้องช่วยเหลือในมิติอื่นๆ ที่ กทม.เป็นผู้ให้บริการเช่น ด้านการศึกษา การสาธารณสุข และการเดินทาง เพื่อลดค่าครองชีพของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ประชาชนสะท้อนปัญหาเรื่องพื้นที่ค้าขายหาบเร่แผงลอย เช่น บริเวณถนนเจริญรัถ ซึ่งมีการจัดระเบียบพื้นที่ไปแล้ว ตนคิดว่าการอยู่ร่วมกันได้ต้องไม่ไปเบียดบังสิทธิคนเดินเท้า ไม่สกปรก รกรุงรัง และเศรษฐกิจแบบนี้คงต้องหาทางออกร่วมกัน

ส่วนย่านเจริญรัถ เขตคลองสาน เมื่อก่อนเป็นย่านที่มีชื่อเสียงด้านการค้าขายเครื่องหนัง แต่ปัจจุบันเริ่มจางหายไป ดังนั้น กทม.ควรเข้ามาช่วยสนับสนุนแต่ละย่านให้สามารถดึงอัตลักษณ์ของตนเองมาสร้างรายได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดค่าครองชีพ

สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ นายชัชชาติ กล่าวว่า อยากให้เป็นไปด้วยความใสสะอาด ไม่มุ่งโจมตีกัน และเน้นไปในเรื่องของนโยบาย รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง และส่งผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร เมื่อได้รับข้อมูลควรใช้วิจารณญาณ คิดอย่างมีสติ งดส่งต่อหากไม่มั่นใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอมให้ตนเอง

“ผมคิดว่าข่าวปลอมมันคล้ายกับเชื้อโรค เราไปกำจัดที่ต้นตอยาก แต่อยากให้พวกเราทุกคนมีภูมิคุ้มกันในตัวเองเวลาเห็นข่าวอะไรมาก็อย่าเพิ่งไปปักใจเชื่อ วิเคราะห์ด้วยเหตุผล อย่าส่งต่อถ้ามันไม่มีเหตุผล หรือไม่มีที่มาที่ไปก็ให้ทิ้งไป อย่าให้มันไปแพร่ต่อ”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะมีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ คือ 1 บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นสีน้ำตาลกาหนึ่งเบอร์ เลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ เพื่อช่วยพัฒนากรุงเทพฯ และ 2 บัตรเลือกตั้ง ส.ก. จะเป็นสีชมพู เขตละ 1 คน ใครอยู่เขตไหนเลือกเขตนั้น ทั้งนี้ขอให้ตรวจสอบหมายเลขของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ให้ถูกต้องก่อนเลือกตั้งเพื่อป้องกันความสับสน

เมื่อถามว่า ผลสำรวจของนิด้าโพล ประชาชนอยากถามผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มากที่สุดคือจะแก้ปัญหารถติดอย่างไรหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. คือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ไม่ 100% เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหารถติด ประมาณ 37 หน่วยงาน สิ่งแรกที่ กทม.ต้องทำคือ 1. สร้างศูนย์บัญชาการร่วม โดยผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน เชิญทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาหารือ วางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ช่วงแรกผู้ว่าฯกทม.อาจจะต้องประชุมทุกสัปดาห์ 2. กทม.อาจต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้การควบคุมสัญญาณไฟเป็นหนึ่งเดียวกัน 3. กทม.ควรดูในสิ่งที่รับผิดชอบ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว พยายามต่อรองให้ราคาค่าโดยสารถูกที่สุด 4. กทม.ต้องดูแลฟุตปาธ ทางเท้าให้เดินสะดวก 5. โครงการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อการจราจร รวมถึงการจอดรถกีดขวางจราจร น้ำท่วมขังผิวจราจรทำให้เสียพื้นที่มนหารสัญจร 1-2 ช่องจราจร และ 6. กทม.อาจเดินรถเมล์เสริมในบางเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง

“ปัญหาการจราจร สุดท้ายอย่าเอารถเป็นตัวตั้ง ต้องเอาขนส่งมวลชนเป็นตัวตั้ง รถจะหายติดก็ต่อเมื่อคนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว