เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที ใน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีที่มีปัญหาในระหว่างการพิจารณางบประมาณของกองทัพเรือ ในชั้นอนุ กมธ.เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะหน่วยงานไม่นำสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ มาให้อนุ กมธ.ดูทั้งที่ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. รับปากว่าจะให้ดูรายละเอียด ทำให้ อนุ กมธ.ต้องประชุมลับ ทั้งนี้ในการพิจารณาในชั้นอนุ กมธ.พบความผิดปกติ ต่อการเล่นแร่แปรธาตุงบประมาณ เพราะการเสนองบประมาณเพื่อจ่ายค่างวดเรือดำน้ำ ลำที่ 1 พบจำนวนเสนอขอจำนวน 1,145 ล้านบาท ทั้งที่ในปี 2564 พบรายการที่เสนอขอต่อสภาฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อชำระค่างวด ทั้งนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอของบประมาณที่ไม่ครบจำนวนดังกล่าว เพื่อต้องการใช้เงินเกือบ 900 ล้านบาท เพื่อตั้งหัวเชื้อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3
นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามข้าราชการสำนักงบประมาณ ที่ดูแลงบประมาณของกองทัพ คือ น.ส.ทัดระวี พรหมสาขา ณ สกลนคร ผอ.กองจัดทำงบประมาณด้านความมั่นคง 2 และ นายเอก มุติตาภรณ์ นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการ สำนักงบประมาณ ที่ดูแลงบประมาณของกองทัพเรือ ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ ดังนั้นตนเตรียมยื่นเรื่องต่อนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ 2 ข้าราชการดังกล่าว ว่า มีส่วนปกปิดข้อมูลและร่วมมือกับกองทัพเรือในการจัดทำงบประมาณที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144
“อนุ กมธ. ซักถามต่อการตั้งงบประมาณจำนวน 900 ล้านบาท นั้นผิดวิธีงบประมาณหรือไม่ เพราะหากจะตั้งเรื่องเพื่อจัดซื้อโครงการใหม่ต้องตั้ง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20,000 ล้านบาท หรือมีข้อยกเว้นอย่างไรหรือไม่ หรือมีการเจรจากับรัฐบาลจีนหรือไม่ แต่ข้าราชการทั้ง 2 คนไม่สามารถให้คำตอบกับอนุ กมธ. ได้ ซึ่งพฤติกรรมนั้นเข้าข่ายไม่โปร่งใส ร่วมกับกองทัพเรือปกปิดข้อมูล ทั้งนี้การพิจารณาของอนุ กมธ.ได้ไล่ให้กองทัพเรือกลับไป และในการประชุม กมธ.งบประมาณ วันที่ 29 ก.ค.นี้ ผมจะซักถามอีกครั้งหากไม่มีรายละเอียดขอเสนอให้ตัดงบประมาณ” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณกองทัพบก พบความผิดปกติด้วย จากโครงการที่เสนอของบประมาณ 921 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อทำโครงการจัดหายานยนต์สายสรรพวุธ แต่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากการจัดซื้อ ไปเป็นซ่อมรถเก่าที่มีอายุการใช้งานกว่า 40 ปี ราคาคันละ 2.5 ล้านบาทแทน แต่กรณีดังกล่าวผู้อำนวยการสำนักงบประมาณยังไม่ลงนาม และต้องเข้า ครม. เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าว สตง. เคยทักท้วงการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพราะมองว่าหากจัดซื้อรถใหม่ จะมีราคาคันละไม่เกิน 4.2 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ อนุ กมธ.สอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
“ในการประชุม กมธ.งบประมาณ ที่อนุ กมธ.จะต้องรายงานตัวเลข ผมจะสอบถามเรื่องนี้กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เช่นกันว่า จะลงนามหรือไม่ หากจะลงนามผมจะขอคัดค้านและไม่เห็นด้วย เพราะปี 2564 บอกว่าขอเงินเพื่อซื้อรถใหม่ แต่พอปีต่อมากลับขอเปลี่ยนแปลงซ่อมรถเก่า ที่อายุใช้งาน 40 ปี ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้งานได้จริงหรือไม่” นายยุทธพงศ์ กล่าว.