สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองฉางซา ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลหูหนาน ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีน เปิดเผยการกู้คืนชิ้นส่วน “จารึกผ้าไหม” หลายสิบชิ้นระหว่างการวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม ที่ขุดพบจากหลุมศพอายุ 2,100 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า ชิ้นส่วนจารึกอักษรจีนเหล่านี้ มาจากตำรางานวรรณกรรมโบราณ “สิงเต๋อ” ฉบับที่ 3 ซึ่งคัดลอกลงบนผ้าไหม


ตำราดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับ บทลงโทษและการศึกษา ประกอบด้วย 3 ฉบับ ถูกค้นพบ เมื่อปี 2516 จากหม่าหวังตุย เนินขนาดเล็กย่านชานเมือง ทางตะวันออกของฉางซา เมืองเอกของหูหนาน อันเป็นที่ตั้งกลุ่มหลุมศพขนาดใหญ่ของขุนนางจากยุคราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 220) ซึ่งรวมถึงหลุมศพภรรยาและบุตรชายของเขา


นอกจากผ้า เครื่องเขิน และสิ่งประดิษฐ์จากไม้แล้ว คณะนักโบราณคดียังค้นพบหนังสืออีกกว่า 50 เล่มจากหม่าหวังตุยด้วย

อวี้เหยียนเจียว นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลหูหนาน กล่าวว่า จารึกผ้าไหมทั้งหมดถูกคัดลอกด้วยมือ ซึ่งลายมือของผู้คัดลอกแต่ละคนล้วนมีลักษณะเฉพาะ เราจึงสามารถใช้เอกลักษณ์นี้เป็นพื้นฐานการจับคู่ชิ้นส่วนผ้าไหมกับตำราต้นฉบับได้

อย่างไรก็ดี งานระบุลายมือต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะการจับคู่ชิ้นส่วนจารึกโบราณกลับสู่ตำแหน่งเดิมต้องอาศัยการค้นหาและเปรียบเทียบด้วยฝีมือมนุษย์เท่านั้น ทางพิพิธภัณฑ์จึงร่วมมือกับศูนย์วิจัยงานคลาสสิกและอักขรวิทยาจีนที่ได้รับการขุดค้น สังกัดมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ดำเนินภารกิจข้างต้น

อนึ่ง การขุดค้นหม่าหวังตุยระหว่างปี 2515-2517 ถือเป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 20.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA