เหมือนพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก!!…ทั้งปัญหาเศรษฐกิจเดิม ๆ พิษวิกฤติโควิด-19 และอีกหลาย ๆ เรื่องไม่ดี ประเดประดัง ส่งผลกระทบถึงรายได้คนไทย จนทำให้ตัวเลข “หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะยาน” ทำให้คนไทย “ประสบปัญหาหนี้สินท่วมหัวกันอื้อ!!” ขณะที่ตัวเลข “ผู้ไม่ได้จ่ายหนี้-ผู้จ่ายหนี้ไม่ได้” เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ตามมาด้วยปัญหา “ถูกฟ้องหนี้” ที่หลายคนอาจจะคิดว่า “ไม่เป็นไร??” แต่ถ้าไม่เข้ากระบวนการก็อาจ “คิดผิด!!” เพราะจะเกิดปัญหาใหญ่กว่าที่คิด!!…

จ่ายหนี้ไม่ได้-ไม่ได้จ่ายหนี้ “ต้องเข้ากระบวนการ”

ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ชีวิตพบปัญหาหนักขึ้นอีก!!

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อให้พินิจ…

กับเรื่อง “หนี้” นี้…ก็มี “คำแนะนำทางออกทางกฎหมาย” รวมไปถึงกรณี “ถูกฟ้องร้องเรื่องหนี้” โดยหากใครต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์จ่ายหนี้ต่อไม่ไหว ก็มีนักกฎหมายที่ให้ความรู้ประชาชนไว้ มีข้อมูลโดย ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สนับสนุนโดย มูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์ ที่ได้ออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านรายการ ถามทุกข์ ตอบสุข เพจเฟซบุ๊ก Noburo wealth-being ซึ่งมีคำแนะนำ พร้อมแนวทางปฏิบัติตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้…

ณัฐ จินตพิทักษ์กุล

ทั้งนี้ ทนายความประจำศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ณัฐ จินตพิทักษ์กุล ให้ข้อมูลไว้ว่า…ก่อนอื่นต้องย้ำกับ “ลูกหนี้” ทุกคนว่า “เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ และอย่าหนีหนี้” โดยทนายอธิบายว่า…เมื่อลูกหนี้ไม่มีเงินใช้หนี้ ในทางปฏิบัตินั้น ฝั่ง “เจ้าหนี้” ก็จะส่งหนังสือทวงถามเพื่อเตือนลูกหนี้ก่อน โดยจะยังไม่ฟ้องในทันที เพราะการฟ้องคดีย่อมมีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเสียเวลาอีกด้วย แต่ถ้าผ่านไประยะหนึ่ง หลังมีหนังสือทวงถามแล้ว ฝั่งลูกหนี้ก็ไม่เข้าพูดคุย กรณีนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องคดี…

สำหรับฝั่ง “ลูกหนี้” เมื่อเจ้าหนี้มีการส่งหนังสือทวงถามหนี้ แต่ลูกหนี้ยังไม่มีเงินจะนำไปชำระหนี้ ถามว่า…กรณีนี้ “ควรจะทำอย่างไร??” ทาง ณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความศูนย์นิติศาสตร์ มธ. อีกคน ได้มีการแนะนำไว้ว่า… ควรเริ่มจากไปคุยเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เป็นอันดับแรก หรือที่ในทางกฎหมายเรียกว่า… “ประนีประนอมยอมความ” เพื่อ ขอผ่อนชำระหนี้ ดังกล่าว ซึ่งเป็น “ทางออกที่ดีที่สุด” ทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ อย่างไรก็ตาม แต่อีกกรณีหนึ่ง ถ้าจู่ ๆ “มีหมายศาลส่งมา” กรณีนี้สิ่งที่ลูกหนี้ควรปฏิบัติตัวก็คือ “ตั้งสติ” เพื่อดูว่า…หนี้ตามหมายศาลที่ส่งมาเป็นหนี้ที่เราก่อขึ้นจริงหรือไม่…

ณัฐพงศ์ รงค์ทอง

ถ้าเป็นหนี้จริง…ก็มี “หลักควรปฏิบัติ” ดังต่อไปนี้…

ในกรณีเป็น “หนี้กู้ยืม-หนี้บัตรเครดิต” ในนัดแรกนั้นลูกหนี้ยังไม่ต้องมีทนายความก็สามารถไปศาลได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม แต่การไปศาลนั้น ลูกหนี้ต้องเตรียมตัว-มีแนวทางดำเนินการนำไปเสนอกับเจ้าหนี้ด้วย ไม่ใช่ไปโดยไม่รู้อะไรเลย เช่น สมมุติเป็นหนี้ 500,000 บาท ก็ต้องดูศักยภาพต่อเดือนของตัวเองว่า…ตอนนี้สามารถจ่ายหนี้ต่อเดือนได้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่ง ขั้นตอนนี้ “สำคัญมาก” เพราะ “เป็นการช่วยหาทางออก” เพื่อที่จะประนีประนอมยอมความกับทางเจ้าหนี้…

นอกจากนั้น ลูกหนี้ต้องดูข้อต่อสู้ด้วย โดยดูจากยอดเงินที่จ่ายไป เช่น เงินหนี้จำนวน 500,000 บาท ลูกหนี้จ่ายไปแล้ว 200,000 บาท แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมหักลดเงินที่ได้ชำระไปแล้วออก กรณีนี้ลูกหนี้ต้องนำเรื่องนี้ยืนยันต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าหนี้นำจำนวนเงินที่จ่ายหนี้แล้วหักลบออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ลูกหนี้ควรต้องมีด้วยคือหลักฐานการชำระหนี้ …นี่เป็น “วิธีปฏิบัติตัวของลูกหนี้” ที่ในทางกฎหมายก็เปิดช่องให้ มีโอกาสต่อรองกับเจ้าหนี้ ซึ่งก็มีการแนะเน้นไว้ว่า…

“ไม่ควรหนีหมายศาล”…เพราะจะมีแต่เสียกับเสีย!!

ทั้งนี้ ทาง ณัฐพงศ์ จากศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ระบุถึงประเด็น “การหลบหนีหมายศาลของลูกหนี้” ไว้ว่า… ปัญหานี้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมากในขณะนี้!! โดยมีทั้งที่ลูกหนี้ “จงใจ” และที่ “ไม่เจตนา” จะหนี ซึ่งหากว่าลูกหนี้ได้รับหมายศาล แล้วไม่ไปขึ้นศาลในนัดแรก นี่อาจ “ส่งผลเสียต่อสิทธิของลูกหนี้” เนื่องจากฝ่ายเจ้าหนี้ก็จะสืบพยานเพียงฝ่ายเดียว เปรียบเป็นการชกมวยก็เหมือนลูกหนี้ถูกชกอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ต่อสู้ อาจทำให้ลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้สูงเกินจริง!! 

ประเด็น “หนีหมายศาลยิ่งเสีย” นี่ต้องตระหนักไว้…

พรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์

ด้าน พรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์ อีกหนึ่งทนายความศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ให้ข้อมูลกรณี “ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย” ไว้ว่า…การที่เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น ไม่ใช่จู่ ๆ จะทำได้เลย เพราะต้องพิจารณาว่าลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่?? หมายถึง มีทรัพย์สินไม่เท่ากับหนี้ หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ฝั่งเจ้าหนี้อาจยกเรื่องนี้ ฟ้องลูกหนี้ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว…เพื่อยึดทรัพย์สินมาชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทางเจ้าหนี้ก็จะสามารถยื่นฟ้องให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ซึ่ง การถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายส่งผลเสียหายกับชีวิตมากกว่าที่คิด!!

อย่าคิดว่าถูกฟ้องล้มละลายเป็นเรื่องเล่น ๆ เพราะทางกฎหมายบุคคลล้มละลายก็เหมือนคนตายไปแล้ว ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินอะไร มีเงินในบัญชีก็ดูแลไม่ได้  ครอบครองทรัพย์สินก็ไม่ได้ ไปต่างประเทศก็ไม่ได้ แม้กระทั่งเงินประกันชีวิต ก็จะถูกอายัดนำไปจ่ายให้เจ้าหนี้” …เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากที่มีการชี้เตือนไว้กรณีล้มละลาย

สรุปคือ…จ่ายหนี้ไม่ไหวก็ต้องเจรจาประนีประนอม

ถ้ามีหมายศาลมาก็ต้องไปศาล…อย่าหนีหมายศาล

เพราะ…ไม่เช่นนั้นชีวิตจะยิ่งอ่วม-ชีวิตจะยิ่งแย่!!.