ความกลัว ความไม่แน่นอน ทำให้เกิดข่าวลือและข่าวปลอมมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือน (Misinfor-mation) เหล่านี้ อาจส่งผลต่อการรับมือและป้องกันไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน” …เป็นการย้ำเตือนให้ “ระวังเฟคนิวส์” โดยเฉพาะ “ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโควิด-19” ที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกับประเทศไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยการย้ำเตือนข้างต้นนี้ออกมาจากองค์การระดับโลกอย่าง องค์การสหประชาชาติ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนให้พิจารณากัน…

มีการ “ย้ำเตือน” ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย…

ให้ “สกัดเฟคนิวส์-แก้ไขปัญหาข้อมูลบิดเบือน”

ที่ “เกี่ยวกับโควิด” ที่อาจส่งผลกับการป้องกันโรค!!

ทั้งนี้ นอกจากการ “ย้ำเตือน” แล้ว ก็ยังมี “แนวทาง-คำแนะนำ” เกี่ยวกับการ “รับมือเฟคนิวส์โควิด-19” ผ่าน เว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ด้วย โดยได้มีการสะท้อนถึงปัญหาดังกล่าวนี้ไว้ว่า… เมื่อ ข้อมูลโควิด-19 ที่คลาดเคลื่อน แพร่ระบาดเร็วยิ่งกว่าตัวไวรัสโควิด!! ดังนั้น ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย จึงจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อสกัดกั้นข้อมูลเท็จ-บิดเบือนเหล่านี้ ซึ่งบทเรียนในการต่อสู้กับโรคระบาดใน 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า…ข้อมูลที่ไม่จริง ข่าวลือ ข่าวปลอม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาด เพราะทำให้สังคมเกิดความสับสน

นอกจากนี้ เว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ยังได้ฉายภาพกรณีปัญหาเกี่ยวกับ เฟคนิวส์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นว่า… เป็นปัญหาต่อเนื่องนับตั้งแต่ 3 เดือนแรกหลังเชื้อโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563 และยิ่งในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดีย การส่งต่อข่าวสารทางออนไลน์ เป็นไปอย่างรวดเร็ว กรณีนี้ก็ยิ่งเอื้อให้ข้อมูลที่บิดเบือนแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น และที่ น่าเป็นห่วง จากปัญหาเฟคนิวส์ก็คือ “อันตรายจากการสรุปเอาเองที่เกิดขึ้นกับประชาชน” ในหลาย ๆ ประเทศ…

“การระบาดของเฟคนิวส์” ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงนี้…

วันนี้ “ยังส่งผลเสียต่อการวางแผนควบคุมโควิด”

และสำหรับ “คำแนะนำ” การ “แก้ไข-ป้องกันปัญหา” การแพร่ระบาดของ “เฟคนิวส์โควิด” เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ก็ได้ให้แนวทางไว้กับคนไทย โดยเฉพาะกับรัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด โดยสังเขปมีดังนี้คือ…

“ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล-ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย” ซึ่งมีกรณีศึกษาคือ… เมื่อมีการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ครั้งแรกในประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ชุมชนบางแห่งของประเทศนั้นเชื่อว่าไวรัสเกิดจากสิ่งชั่วร้าย จึงแค่ทำพิธีกรรมขับไล่ และมีคนในบางชุมชนที่เชื่อว่าโควิดเป็นฝีมือคนจากภูมิภาคอื่น ส่งผลทำให้โรคระบาดกลายเป็นความหวาดระแวงและส่อแววลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้คน ซึ่ง องค์การอนามัยโลก ได้แก้ปัญหาโดย นำข้อมูลที่ถูกต้องแปลเป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้อง จนสุดท้ายข้อมูลที่บิดเบือนและความขัดแย้งก็ถูกขจัดไปในที่สุด

“ส่งเสริมแหล่งข่าวและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง” ผ่านช่องทางสื่อสารที่ทุกคนสามารถจะเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ทั่วถึง ก็ควรพัฒนาให้มีความหลากหลายทางการใช้ภาษา โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่ผู้คนมีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ …นี่ก็เป็นคำแนะนำผ่านเว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ที่เน้นเรื่อง “การสื่อสาร” ที่จำเป็นจะ “ต้องยึดหลักสื่อสารชัดเจน-สื่อสารให้เข้าใจง่าย-สื่อสารให้เข้าใจทั่วถึง” เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือข้อมูลคลาดเคลื่อน

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปัญหาเฟคนิวส์” ในช่วง “โควิด-19 ระบาดไทย” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เองก็ได้เคยร่วมฉายภาพกรณีปัญหาในเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว โดยเป็นการร่วมสะท้อนต่อข้อมูลจากทาง โครงการโคแฟค ประเทศไทย ที่ได้มีการรวบรวม “คำศัพท์ควรรู้” ใน “ยุคเฟคนิวส์ระบาด” ซึ่งฉายภาพว่า…ยุคโรคระบาดนี่เฟคนิวส์มีวิธีการซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับ “คำศัพท์เด่น ๆ” ในกรณีนี้นั้น…ก็อย่างเช่นคำว่า “Alternative fact” หรือ “ความจริงทางเลือก” ที่หมายถึง การเลือกเสนอความจริงแค่เพียงบางส่วน หรือ การเลือกเสนอความจริงแค่เฉพาะในมุมของตน ซึ่งอาจจะไม่ตรงทั้งหมดกับความจริงที่ปรากฏขึ้น คำว่า “Circular reporting” ที่เป็น การนำเสนอ รายงาน ข้อมูลที่ผิดหรือคลาดเคลื่อน ส่งต่อกันไป จนทำให้ข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ผิด หรือข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน เกิดการแพร่กระจายขยายสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว

และยังมีคำว่า “Misinformation” ที่ในที่นี้หมายถึง ข้อมูลเท็จที่ถูกเผยแพร่จากคนที่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นความจริง คำว่า “Information overload” หรือ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” หมายถึง ได้รับข้อมูลจำนวนมากเกินไปในคราวเดียวกัน จนไม่สามารถคิดได้ถี่ถ้วน ที่ก็ต้องระวัง และ “ที่ยิ่งต้องระวัง!!” คือคำว่า “Disinformation” การบิดเบือนข้อมูล ที่หมายถึง การสร้างข้อมูลเท็จที่มีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นหลงเชื่อในความไม่จริง หรือ มีเป้าหมายเพื่อจะหลอกลวง

…เหล่านี้เป็นคำศัพท์ที่เผยแพร่ไว้โดย โครงการโคแฟค ประเทศไทย ซึ่งคนไทยก็ “น่าจะได้ตระหนักกันไว้” เพราะ “เฟคนิวส์โควิดระบาดแข่งกับไวรัสโควิด” ซึ่งนี่ก็ “เป็นปัญหาใหญ่” จนองค์การสหประชาชาติมีการเตือนให้ระวัง-แก้ไข

ในไทยเรา “เฟคนิวส์โควิด” จนวันนี้ก็ “ยังมีระบาด”

นอกจากรัฐแล้ว “เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ต้องรับมือให้ดี”

“หลงเชื่อ”…ผลร้ายนั้นก็ “อาจจะถึงตายได้เลย!!”.