จากปรากฏการณ์ฉาวโฉ่ทั่ววงการการเมืองไทยขณะนี้ คือเรื่อง นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดทางเพศ โดยถูกอ้างว่ามีตั้งแต่การทำอนาจารไปถึงการข่มขืน มี “ผู้กล่าวหา” เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งสำนวนในข่าวมักจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “เหยื่อ” ทำให้คนที่ถูกกระทำเหล่านี้ไม่รู้สึกเกิดความกล้าหาญที่จะสู้ เพราะความหมายของเหยื่อ มันมีนัยในการด้อยค่า ก็มีผู้แนะนำให้เรียกเป็น “survivor” หรือ ผู้รอดจากเหตุการณ์ จะลดการด้อยค่าและปลุกใจให้ต่อสู้มากกว่าว่า “เราต้องเอาคืนผู้กระทำ”

สาเหตุที่เรื่องนายปริญญ์ถูกโจมตีหนักขณะนี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า “มีนัยทางการเมือง” เนื่องจากใกล้จะมีการเลือกตั้ง และมี “ข่าวว่า” มีกลุ่มคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่พอใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคนัก เนื่องจาก “เอาแต่พรรคพวกตัวเอง” ในการพิจารณาคนลงสมัคร ส.ส. หรือให้บทบาทสำคัญ ซึ่งเรื่องการพิจารณาคนลงสมัคร ส.ส.นี้ บางทีก็ต้องให้โอกาสกับหัวหน้าพรรคก่อนจะพูด เพราะบัตรเลือกตั้งแบบใหม่แบ่ง ส.ส.เขตเพิ่มอีก 50 เขต และต้องรอ กกต.เกลี่ยเขตใหม่ก่อนถึงจะจัดทีมได้

แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมาทำให้ถูกมองว่า “เริ่มเล่นงานคนใกล้ชิดนายจุรินทร์” เริ่มจาก นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่จะก้าวมามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะ โจทย์ใหญ่ ของการเลือกตั้งเที่ยวนี้คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ซบเซาจากภาวะโควิดเข้าปีที่สาม และยังมีปัญหาเรื่องสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอีก ซึ่งถ้ามือเศรษฐกิจของพรรคไม่ใช่ใครที่ประชาชนเห็นแล้วร้องว้าวได้ ก็ทำคะแนนเสียไปส่วนหนึ่ง ขณะที่งานด้านเศรษฐกิจพรรคเองมีแค่ เรื่องประกันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งช่วยเกษตรกรแต่ไม่ช่วยหารายได้เข้าประเทศ

คนต่อไปที่น่าจะต้อง “สังเวยตัวเอง” คือ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรคที่ใกล้ชิดนายจุรินทร์ เนื่องจากอยู่ๆ ก็เกิดปัญหาผู้ไม่ประสงค์ดีจงใจเผลทำไลน์กลุ่มผู้บริหารหลุด กลายเป็นว่าในไลน์นั้นมีการเรียกร้องให้สอบสวนคณะกรรมการบริหารพรรคกรณีแต่งตั้งนายปริญญ์ น.ส.มัลลิกาก็ “อารมณ์ขึ้น” ไปหน่อย ตอบโต้ว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้วกรรมการบริหารพรรคคนอื่นต้องรับผิดชอบหรือไม่ แถมยังร่ายยาวไปถึงว่าคนอื่นในพรรคก็มี “พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม” กลายเป็นยิ่งทำให้สังคมหูผึ่งขึ้นมาอีกว่า ใครบ้าง?

ก็ได้ข่าวว่า เรื่องนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบไลน์หลุดแล้ว โดย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อหมาดๆ ของพรรคเป็นคนสอบ ซึ่งคนก็จับตามองพอสมควรว่า “หนอนบ่อนไส้” ในพรรคที่จะสอยนายจุรินทร์คือใคร บางคนก็พอจะมี “ผู้ต้องสงสัย” อยู่ในหัวแล้วว่า “จากข่าว ก็ใครล่ะเปิดประเด็น” แต่ถ้าจะหวังถึงขั้นบอกว่า ใครผิดลูกผิดเมียใครในพรรคเขาคงจะไม่สอบไปถึงขั้นนั้นหรอก มันเรื่องส่วนบุคคล บางทีหาหลักฐานไม่ได้ด้วยซ้ำ กลายเป็นจะฟ้องร้องกันในพรรคหรือเปล่าก็ไม่รู้ถ้าแฉขึ้นมา ก็ให้รอดูต่อไปในอนาคตเองว่าอะไรมันจะแดงขึ้นมาอีก

อย่างไรก็ตาม เรื่องในพรรคเขาก็ว่ากันไป แต่จากปรากฏการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นนี้ มันก็มีกรณีที่ “ขำแห้ง” อยู่เหมือนกันคือ บางคนก็ไปทำเป็นเรื่องขำแบบไม่รู้ว่ามันจะขำตรงไหน อย่างเห็นมี ส.ส.บางคนที่ชอบกระโดดงับเรื่องนั้นเรื่องนี้หวังว่าตัวเองจะดัง ก็เอาเรื่องมาทำให้ตลก (make fun) ทำนองว่าตัวเองมีแต่คนมาลวนลาม ซึ่งมันแสดงถึง ความไม่เข้าใจต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มา บางครั้งกลายเป็นแผลในใจยาวนานที่ส่งผลต่อพฤติกรรม หรือกลายเป็นโรคจิตประสาทไปเลยได้ เพราะเหตุการณ์ร้ายแรง ทำให้เกิดภาวะ “ไร้คุณค่าในตัวเอง”

ค่านิยมสังคมไทยหลายๆ อย่าง (หรือกระทั่งค่านิยมสากลก็ตาม) กดทับให้ผู้หญิงรู้สึกมีความผิด นั่นคือการ “โทษเหยื่อ” (victim blaming) ตั้งแต่ค่านิยมแรก “เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว” “ต้องระวังกิริยามารยาท” “ต้องแต่งตัวมิดชิด” (จนกระทั่งเรื่องนี้มีการออกแคมเปญ don’t tell me how to dress) “ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ชายสองต่อสอง” ฯลฯ เรียกว่ามีสุภาษิตสอนหญิงกันเป็นเล่มๆได้ ซึ่งเรื่องนี้มันกลายเป็นบรรทัดฐาน (norm) ของสังคมไปแล้วว่า “ผู้หญิงที่ไม่ยึดถือคือผู้หญิงที่ไม่ดี” ดังนั้น ผู้หญิงที่ทำตัวขัดกับบรรทัดฐานก็ควร “โดน”

บางทีเราจะเห็นการตั้งคำถามว่า “ไปทำอะไรมาถึงโดน” แต่งตัวโป๊ดูจะเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งของการโทษเหยื่อ จนในต่างประเทศต้องมีการจัดนิทรรศการ เอาชุดที่ผู้หญิงใส่ในวันที่ถูกข่มขืนมาโชว์เป็นชุดๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ชุดโป๊เปลือยอะไรเลย เป็นการตะโกนบอกดังๆ ว่า “แต่งตัวอย่างไรถ้าอาชญากรมันจะกระทำมันก็กระทำทั้งนั้นแหละ”

ปัจจัยต่อมาที่มีการโทษเหยื่อ คือ “ทำไมไปอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง” คือในยุคสมัยนี้ เราพยายามสร้างความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการให้เกียรติทางเพศกันแล้ว ผู้หญิงหลายคนก็มีโอกาสที่จะเชื่อได้ว่า ตัวเองได้รับความเคารพเช่นกัน และการอยู่กันสองต่อสอง ไม่จำเป็นต้องเป็นที่รโหฐาน ที่สาธารณะอย่างในร้านอาหาร ถ้าคนกระทำจะทำมันก็ทำ และใครจะรู้ว่า ภายใต้ฉากหน้าดีๆ จะซ่อนอาการทางจิตที่ควบคุมความต้องการทางเพศของตัวเองไม่อยู่ บางคนก็อาศัยความไว้ใจ เจอหน้าค่าตากันมานาน เลยไม่คาดคิดว่าตัวเองจะถูกกระทำ

ต่อมาคือเรื่อง “เป็นผู้หญิงไปอยู่ในที่อโคจรใช่ไหมถึงโดน” คำว่า “ที่อโคจร” ที่ว่าน่าจะหมายถึง ที่เที่ยวกลางคืนตามหลักอบายมุข 6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งใน การเที่ยวกลางคืนมันก็เป็นการผ่อนคลายที่ผู้หญิงก็มีสิทธิ อย่างจะไปดูการแสดงดนตรี ไปเต้นในผับ พอไปดูหลักอบายมุข 6 มันก็ล่อเข้าไป 3 ข้อแล้ว คือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการเล่น ..ซึ่งจริงๆ มันก็คือการปลดปล่อยตัวเองจากความเครียดและเป็นสิทธิ และผู้หญิงก็ควรได้รับเกียรติที่จะไม่ต้องระวังตัวว่าใครมาล่วงละเมิด อยากทำความรู้จักก็เข้ามาอย่างสุภาพได้

ที่อโคจรคือที่ที่ไม่ควรไป แต่ปัจจุบันนี้มันเป็นแหล่งธุรกิจที่ทำเงินสะพัดและใครๆ ก็เที่ยวได้ ก็ไม่ทราบว่าความเชื่อในสังคมอื่นเขาไม่มองพวกผับ บาร์ เหล่านี้เป็นที่ไม่ควรไปหรือเปล่า แต่มันคือที่เที่ยวปกติ

นี่คือตัวอย่างที่มี การตั้งแง่กับผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนหลายคน ไม่กล้าที่จะร้องเรียน แจ้งความ จัดการปัญหา เนื่องจากกลัวว่า จะโดนสังคม “ด้อยค่า” อีก และยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องที่อยากลืม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บางทีกระบวนการมีผู้ชายอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ชั้นพนักงานสืบสวน ทำให้ยิ่งเกิดความอับอายเหมือนถูกล่วงละเมิดซ้ำอีกครั้ง สหวิชาชีพจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะกรณี “เหตุเกิดในครอบครัว” ที่ ผู้ถูกกระทำมักจะถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่าในครอบครัวข่มขู่หรือใช้กำลังเพื่อให้เรื่องนี้เงียบ

ที่น่าเศร้าคือ บางครอบครัวที่มีแนวคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” บางครั้งลูกโดน ผู้เป็นแม่ดันไปเข้าข้างพ่อ หรือผู้ชายที่เป็นผู้กระทำ และบอกให้เงียบ ซึ่งเรื่องในครอบครัวมักจะเป็นเรื่องลับๆ แต่ประเทศไทยไม่ใช่สังคมที่ต่างคนต่างอยู่นัก เพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องนั่นแหละมีโอกาสรู้..อันนี้น่าสนใจว่า แคนดิดเดตผู้ว่าฯ กทม.บางคน ก็เสนอเรื่องการตั้งชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำชุมชน นอกจากชุมชนเข้มแข็งจะเสนอนโยบายและของบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนตัวเอง ต้องสามารถช่วยเหลือโดยเป็นหูเป็นตาตรงนี้ด้วยได้

และตระหนัก เข้าใจว่า การล่วงละเมิดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ผู้หญิงโดน ผู้ชายก็โดน เพศไหนๆ ก็โดนได้ ตราบใดที่ไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจ การรุกล้ำร่างกายคือการล่วงละเมิดทั้งนั้น สังคมต้องมีความเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6 เสนอว่า “ต้องสอนกันตั้งแต่ในระดับโรงเรียนสังกัด กทม.” กี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตนอย่างให้เกียรติแต่ละเพศ และต้องสอนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานกันแต่เด็กว่าเราไม่สิทธิ์ล่วงละเมิดใคร สอนเรื่องกลไกปกป้อง ก็เป็นแนวคิดหนึ่งในการขัดเกลาทางสังคม มากกกว่าการเพิ่มเรื่องการทำโครงสร้างความปลอดภัย

เพราะสำคัญที่สุด ไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดกัน อยู่ที่การสร้างจิตสำนึก และปลุกให้ผู้ถูกล่วงละเมิดต้องไม่ยอม

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”