การนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ให้ได้ผล อาจต้องเริ่มจากการที่เราต้องเป็นสังคมที่ดัดจริตน้อยลง งมงายน้อยลง ซอฟต์พาวเวอร์จึงจะมีพลังและทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ก็คือ สังคมต้องยอมรับความหลากหลาย เพราะเรื่องนี้ทำให้เกิดการสร้างความคิดสร้างสรรค์” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดยผู้สันทัดกรณีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันสืบเนื่องจากการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสนอแนะการใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power)” ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อเรื่องนี้ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว…ไล่เลี่ยกับการเกิดกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง” เซ็งแซ่ขึ้นมา หลังจาก “มิลลิ” ศิลปินแร็พเปอร์สาวไทยนำข้าวเหนียวมะม่วงไปขึ้นเวทีเทศกาลดนตรีอินเตอร์ที่สหรัฐ

ณ ที่นี้สะท้อนกรณี “ซอฟต์พาวเวอร์” ไปก่อนแล้ว

ก่อนกระแส “ซอฟต์พาวเวอร์” จะเซ็งแซ่ขึ้นในไทย

และวันนี้มาดู “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” กันอีกประเด็น

“เมืองไทยเรามีวัฒนธรรม และของดี ๆ มากมาย… หากประเทศไทยหยิบวัฒนธรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเรารู้จักการสร้างคุณค่า และสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแบบยั่งยืน…” …นี่เป็นการระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาโดย ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการท่านนี้ได้สะท้อนแง่มุมกรณี “ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย” มาอย่างน่าพิจารณา… โดยกรณี “มิลลิ” กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ในต่างประเทศ จนกลายเป็นกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ ขายดิบขายดีทุกร้านนั้น อาจารย์ไชยวัฒน์ระบุว่า… เป็นเรื่องน่าชื่นชม ซึ่งเด็กไทยเราก็เก่ง มีความสามารถ กรณีมิลลิก็เหมือน “ลิซ่า BLACKPINK” ที่พูดถึงอาหารโปรด คือ “ลูกชิ้นยืนกิน” แล้วก็กลายเป็นการปลุกกระแสให้คนไปตามรอยกินอาหารดังกล่าวอย่างล้นหลาม

“ใครก็ตามที่มีชื่อเสียง แล้วทำอะไรที่ดีแบบนี้ มันก็เป็นในเชิงส่งเสริมวัฒนธรรมการกินอาหารอะไรบางอย่างของคนมีชื่อเสียง ไม่ใช่เฉพาะน้องลิซ่า หรือน้องมิลลิ มันก็เหมือนกับโฆษณาสินค้า ที่ต้องใช้คนพรีเซ็นต์ ใช้คนที่ดูแล้วมีอิมแพ็ค” ..ทาง ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ระบุ พร้อมทั้งสะท้อนแง่มุมต่อไปว่า…  “เหมือนกับซีรีส์เกาหลี ที่ใช้คนรุ่นใหม่แสดง และสอดแทรกอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ที่มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว คนเห็นก็อยากกินอาหาร อยากไปเที่ยวเกาหลี อยากไปซื้อของ ชอบในวัฒนธรรมเกาหลี ทำให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องไปทั่วโลก…”

เป็นการฉายภาพ “ซอฟต์พาวเวอร์” กรณี “เกาหลีใต้”

ที่กับ “ไทย” ก็ “คาดหวังซอฟต์พาวเวอร์” ทำนองนี้…

อย่างไรก็ดีสำหรับไทยนั้น นักวิชาการท่านนี้ระบุว่า… “ถ้าอยากให้คนต่างชาติเขาสนใจไทย ก็จะต้องนำเสนอโดยทำให้มันสอดคล้องกับสังคมที่นำเสนอ” ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนรู้จักวัฒนธรรมไทยแบบยั่งยืน โดยรัฐบาลก็ควรต้องให้การสนับสนุนเต็มที่จริง ๆ ต้องทำให้ต่างชาติหันมาเข้าใจเมืองไทยมากขึ้น เหมือนที่น้องมิลลิพยายามแก้ให้คนต่างชาติที่ไม่เข้าใจสังคมไทย ได้เข้าใจ ได้เห็นได้รู้ว่าประเทศไทยก็มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอะไรที่ทันสมัย ไม่ใช่อยู่เหมือนโบราณกาล

“ต้องชื่นชมน้องมิลลิที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปเผยแพร่ ทำให้คนทั่วโลกรู้จักข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้อยากจะกิน แม้แต่คนไทยที่กินข้าวเหนียวมะม่วงมาตลอด ก็ยังอยากกินและต้องไปซื้อกิน…” …อาจารย์ไชยวัฒน์ ระบุ

และนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านเดิมยังสะท้อนเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีก โดยได้ขยายความประเด็น “นำเสนอโดยทำให้สอดคล้องกับสัคมที่นำเสนอ” จึงจะสามารถทำให้คนต่างชาติสนใจไทย… อย่างเช่นที่ “มิลลิ” ทำ โดยเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไปนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ของไทยโดยสอดคล้องกับสังคมที่นำเสนอ ซึ่งการโชว์ต่าง ๆ การจะแสดงอะไร ขึ้นอยู่กับคนดูว่าเป็นกลุ่มไหนโดยการจะใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” นั้นก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้…

“น้องมิลลิไปแสดงที่แคลิฟอร์เนีย คนดูเป็นวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ก็มีความรู้สึกร่วม หากไปโชว์รำชดช้อย มันก็ไม่ตรงจริตความชอบของวัยเขา ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่จะให้เปลี่ยนการรำชดช้อยไปเต้นกระโดกกระเดกเหมือนตะวันตก ไม่ใช่ เพียงแต่ถ้าเราอยากให้คนต่างชาติเขาสนใจ ก็ต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และนำเสนอให้น่าสนใจ”

กับการ “ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดประโยชน์กับไทยมากขึ้น” นั้น ทาง ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ได้สะท้อนแง่มุมที่น่าพิจารณามาว่า…ต้องเน้น “วัฒนธรรมที่สร้างสรรค์” จึงจะมีผลต่อสังคมคนรุ่นใหม่ ทำให้มีความรู้สึกหวงแหนของดี ๆ ของเราโดย “นำของดีที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด” ทำให้เป็นที่นิยม… “วัฒนธรรมไทยควรต้องให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ที่เขาสามารถมีความรู้สึกร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งหากเป็นวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็จะไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร…” ทั้งนี้ นักวิชาการท่านนี้ยังระบุด้วยว่า… วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งมีชีวิต และมีคุณค่า เป็นสิ่งที่เราควรทะนุถนอม และทำให้ยั่งยืน…

“เมื่อคนรุ่นใหม่ชูเป็นตัวอย่าง ก็จะได้แนวร่วมคนรุ่นใหม่ด้วย คนรุ่นเก่าอาจจะมองขัดหูขัดตาไปบ้าง แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมที่ดี ทำให้คนต่างชาติหันมาสนใจวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเรา ก็ย่อมเป็นเรื่องดี ซึ่ง…

ถึงเวลาแล้วที่จะส่งวัฒนธรรมไทยผ่านเด็กรุ่นใหม่”

เพื่อ “ทำให้วัฒนธรรมที่ดีของไทยมีความยั่งยืน…”.