โมดี กล่าวว่า อินเดีย “มีอาหารเพียงพอ” สำหรับประชากรในประเทศกว่า 1,400 ล้านคน และ “พร้อมที่จะจัดส่งสต๊อกอาหารไปทั่วโลกทันที” หากองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) อนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นสูงในรอบ 10 ปี ก่อนที่จะเกิดสงครามในยูเครนอยู่แล้ว เพราะมาจากปัญหาการเก็บเกี่ยวทั่วโลก ซึ่งหลังจากที่เกิดสงคราม ราคายิ่งดีดตัวและอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ตามข้อมูลดัชนีราคาอาหารของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)

รัสเซียและยูเครนคือ 2 ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของสัดส่วนตลาดข้าวสาลีโลกในแต่ละปี นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีสัดส่วนการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันของโลกถึง 55% ในแต่ละปี และการส่งออกข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ 17% เมื่อรวมกัน มีการคาดการณ์ว่า ทั้งสองประเทศสามารถส่งออกข้าวสาลี 14 ล้านตัน และข้าวโพดมากกว่า 16 ล้านตัน ในปีนี้ ตามที่เอฟเอโอระบุ

อินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวและข้าวสาลีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในช่วงต้นเดือน เม.ย. อินเดียมีสินค้าหลัก 2 อย่างในสต๊อกมากถึง 74 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้ จำนวน 21 ล้านตัน ถูกเก็บไว้สำหรับการสำรองทางยุทธศาสตร์ และระบบกระจายสินค้าสาธารณะ (พีดีเอส) ซึ่งทำให้คนจนมากกว่า 700 ล้านคน เข้าถึงอาหารราคาถูกได้

นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นผู้จัดส่งข้าวสาลีและข้าวในราคาที่ถูกที่สุดของโลกอีกด้วย ซึ่งอินเดียส่งข้าวไปเกือบ 150 ประเทศ และส่งข้าวสาลีไป 68 ประเทศ และเคยส่งออกข้าวสาลีประมาณ 7 ล้านตัน ระหว่างปี 2563-2564

อินเดียสามารถที่จะส่งออกข้าว 22 ล้านตัน และข้าวสาลี 16 ล้านตัน ในปีงบประมาณนี้ได้ ตามที่ อาชอค คูลาติ ศาสตราจารย์ด้านการเกษตรที่สภาวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอินเดีย (ไอซีอาร์ไออีอาร์) ระบุ “ถ้าดับเบิลยูทีโออนุมัติให้สินค้าในสต๊อกของรัฐบาลอินเดียสามารถส่งออกได้ มันสามารถสูงได้กว่านี้ สิ่งนี้จะช่วยลดราคาสินค้าของโลก และลดภาระของบรรดาประเทศนำเข้าทั่วโลกได้” เขากล่าว

แต่อีกหนึ่งคำถาม ที่ผู้เชี่ยวชาญสงสัย คือเรื่อง ปุ๋ย องค์ประกอบพื้นฐานในการเพาะปลูก สต๊อกของอินเดียลดต่ำหลังจากสงคราม อินเดียนำเข้าไดแอมโมเนียมฟอสเฟตและปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน, ซัลเฟอร์ และโพแทช การส่งออกโพแทชของรัสเซียและเบลารุสคิดสัดส่วนเป็น 40% ของโลก ซึ่งราคาปุ๋ยสูงอยู่แล้ว เนื่องจากราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าสงครามยังยืดเยื้อต่อไป อินเดียอาจเผชิญกับความท้าทายด้านโลจิสติกส์ในการเพิ่มการส่งออก และยังมีคำถามเรื่องค่าขนส่งที่สูงขึ้นเช่นกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS