ผ่านพ้นมา 2 สัปดาห์เต็ม หลังจากทาง (ศบค.) ประกาศ ยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ตั้งแต่ 12 ก.ค. 64  ยอดติดเชื้อใหม่รายวัน พุ่งทะยานทุบสถิติมาตลอด จนยอดติดเชื้อสะสมเกินกว่า 5 แสนคนแล้ว วันที่ 26 ก.ค. ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย เสียชีวิต 87 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 512,678 ราย ผู้เสียชีวิต 4,146 ราย) ขณะที่การฉีดวัคซีน ใน 77 จังหวัด รวม 15,869,844 โด๊ส (เข็มที่หนึ่ง 12,226,845 ราย เข็มที่สอง 3,642,999 ราย)

เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่น่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก เมื่อสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เต็มเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะ ห้องผู้ป่วยวิกฤติ ที่หลายโรงพยาบาลเริ่มขยายจนเกินความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์จะรองรับไหว สิ่งนี้สะท้อนถึงต้องเร่งหาทางออกก่อนที่จะวิกฤติไปมากกว่านี้ 

บุคลากรทางการแพทย์ยังติดเชื้อเพิ่ม

ทีมข่าว 1/4 Special Report ติดต่อสัมภาษณ์พูดคุยกับ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นว่า ตอนนี้มาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการสังคมยังควบคุมโรคไม่ได้ อาจต้องใช้เวลาอีก 2–3 อาทิตย์ เพื่อดูตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ในทางการแพทย์ถือเป็น ภัยพิบัติหมู่จากโรคติดเชื้อ ซึ่งแตกต่างจากภัยพิบัติอื่น ๆ ที่ไทยเคยเจอซึ่งจะมาเพียงพักเดียวแล้วฟื้นฟูสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น แต่ภัยจากโควิดมีมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทรัพยากรในการช่วยเหลือผู้ป่วยถูกจำกัดขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ บุคลากรทางการแพทย์ ที่การระบาดรอบนี้ยาวนานกว่ารอบแรก จึงทำให้บุคลากรหลายคนเริ่มเหนื่อยและท้อ รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อคนในครอบครัวของบุคลากร ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากการระบาด จนมีผลมาสู่ความรู้สึกของบุคลากรด่านหน้า

การระบาดระลอกนี้ทำให้โรงพยาบาลต้องเปลี่ยนแปลง ในการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยไปในสถานที่ต่าง ๆ นอกโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะที่โรงพยาบาลรองรับคนไข้ได้ 1,200 เตียง แต่ตอนนี้มีผู้ป่วยโควิดอยู่ 1,400 คน จึงมีการกระจายไปยัง ฮอสพิเทล ที่มีอยู่ 2 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 500–600 คน ส่วนการแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ โฮมไอโซเลชั่น มี 600 คน และตอนนี้เริ่มทำ “คอมมูนิตี ไอโซเลชั่น” ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยชุมชนประมาณ 6–7 คน

การเพิ่มเตียงของโรงพยาบาลครั้งนี้ ถือว่ามากกว่าทุกครั้ง สิ่งที่น่าห่วงคือ กำลังของบุคลากรทางการแพทย์ และศักยภาพการทำงานจะสู้กับโรคระบาดนี้ได้นานแค่ไหน เพราะตอนนี้บุคลากรเองก็ติดโควิดไปแล้ว
กว่า 500 คน

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ในเชิงรุก ผ่านการกรอกแบบฟอร์มเพื่อประเมินความเสี่ยงในระบบอินเทอร์เน็ต หากประเมินแล้วว่า คนนั้นมีความเสี่ยงก็จะทำการตรวจ ประกอบกับจะต้องมีการสุ่มตรวจเพื่อหาเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ ได้เริ่มฉีดวัคซีนแอส
ตราเซเนกา เข็มที่ 3 แล้ว ส่วน วัคซีนไฟเซอร์ ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่ามีการนำเข้ามาในปลายเดือนก.ค.นี้ ถือเป็นขวัญกำลังใจของแพทย์ด่านหน้าอย่างมาก

ผู้ป่วยวิกฤติล้นทุกรพ.-ยารักษาขาดตลาด

ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานในที่มีภาวการณ์แพร่ระบาด ควรมีการทำงานประสานกันทั้งในระดับโรงพยาบาล ไปจนถึงคลินิกชุมชน และร้านขายยา ที่จะช่วยกันทำงานภายในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อดูแลคนไข้ภายในชุมชน เพราะตอนนี้ถ้าผู้ป่วยทุกคนเข้ามาที่โรงพยาบาลอย่างเดียว เตียงจะไม่เพียงพอ จนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ในรอบนี้ติดต่อกันง่าย และยังทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการแทรกซ้อนมากขึ้น จากสถิติของผู้เสียชีวิตยังเป็น กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว และมี ภาวะอ้วน ปัจจัยสำคัญมาจากความร้ายแรงของเชื้อที่มากขึ้น อีกส่วนเป็นผลมาจากทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีอย่างจำกัด ทั้งสถานที่ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา เช่น เดิมบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลคนไข้ 100 เตียง แต่ตอนนี้ต้องดูแลถึง 1,000 เตียง 

ขณะที่เครื่องมือรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง มีไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือคนไข้ รวมถึง ยาบางชนิด ที่ใช้ในการรักษา เพื่อช่วยป้องกันการอักเสบของปอด ที่นำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ แม้ยังไม่มีสูตรที่แน่ชัด เพราะเป็นยาต้นแบบ ที่ผู้ผลิตใช้ในการรักษาโรคไขข้ออักเสบ แต่เมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดพบว่ามีอาการดีขึ้น ยาตัวนี้มีราคาแพง ตกขวดละ 30,000–40,000 บาท ตอนนี้ยามีอย่างจำกัด หลายโรงพยาบาลพยายามขอแบ่ง แต่เรามียาไม่เพียงพอกับการรักษา

นอกจากนี้ห้องผู้ป่วยวิกฤติ ปัจจุบันเต็มทุกเตียง แม้มีการขยายส่งต่อคนไข้หนักไปที่ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่มีห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน 40 ห้อง ทำให้เราต้องมาเร่งปรับพื้นที่ตึกเก่าของรพ.รามาฯ ออกแบบให้เป็นห้องความดันลบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำงานได้อย่างปลอดภัย คาดว่าจะช่วยรองรับผู้ป่วยวิกฤติได้อีก 80 เตียง ถือเป็นเฮือกสุดท้ายของทีมแพทย์ที่จะขยายเตียงได้”

ทุกฝ่ายจับมือชุมชนเรียนรู้ฝ่าวิกฤติ

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ยังมีมุมมองอีกว่า สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ หยุดการระบาดที่ต้นทางให้ได้ก่อน เพราะการรักษาผู้ป่วยถือเป็นปลายทาง ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันหยุดการระบาด และต้องเร่งระดมจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จากการทำงานในวิกฤติครั้งนี้เรายังมองเห็นโอกาสว่า หากมีการทำงานร่วมกับชุมชน หรือคลินิกต่าง ๆ ในชุมชน จะเป็นการสร้างเครือข่ายระบบสาธารณสุขในเมืองได้อย่างระยะยาว เพราะการมาดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน ส่วนหนึ่ง คนในท้องถิ่นจะมีความรู้เพิ่มขึ้น เช่น ครั้งเกิดสึนามิ ที่ระยะแรกการจัดการ
ต่าง ๆ ยังไม่เป็นระบบ แต่พอผ่านไป ทุกคนได้เรียนรู้ พอเกิดเหตุวิกฤติรอบใหม่ ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองว่าจะต้องจัดการอย่างไรภายในชุมชน แต่ปัญหาตอนนี้คือทัศนคติที่เป็นลบต่อผู้ป่วยโควิด ภายในชุมชน หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิด เห็นได้จากผู้ป่วยที่รักษาจนหาย แต่ไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในคอนโดได้ เพราะคนในชุมชนกลัวว่าจะติด แต่จริง ๆ แล้วถ้าร่วมมือกัน ทุกอย่างมีทางป้องกัน

ถ้าชุมชนไหนมีผู้ป่วยมาก และต้องการจัดการผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนที่จัดไว้ จะต้องมีการประสานกับทางเขต และสถานพยาบาลในพื้นที่ชุมชน เช่น ตอนนี้โรงพยาบาลได้ประสานกับผู้นำชุมชน 7 แห่งในพื้นที่ ในการที่โรงพยาบาลจะเป็นส่วนเสริม และฝึกคนในชุมชนให้ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยอบรม 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นจะให้ชุมชนจัดการกันเอง แต่ถ้ามีคนไข้หนัก หรือมีเหตุด่วน สามารถติดต่อทีมแพทย์ได้ทันที ขณะนี้ทีมแพทย์เริ่มลุยเชิงลึกในการดึงคนที่ป่วยหรือมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด มาตรวจหา เพื่อแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาก่อนที่จะมีการระบาดในชุมชน เมื่อคนในชุมชนมีความรู้ และคุ้นเคยกับทีมแพทย์ชุมชนมากขึ้น อนาคตเราจะมีโครงการดูแลคนในชุมชนต่อได้

สิ่งที่อยากเตือนสติตอนนี้คือ อยากจะให้ฟังกันอย่างมีเหตุผลในการแก้ปัญหา เพราะหลายคนมัวแต่เถียงกันด้วยทัศนคติที่ลบ จนทำให้ประชาชนที่ฟังสับสน เพราะไม่รู้จะเชื่อใคร ดังนั้นเราควรจะฟังกันเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติครั้งนี้ ได้ผ่านพ้นไป เพื่อที่ประเทศของเราจะสูญเสียประชากรจากเหตุการณ์นี้ให้น้อยที่สุด.