เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนข้อมูลที่ สสส. ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจรวบรวม พบว่า… “ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มีหญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมติดต่อขอรับคำปรึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว” โดยในจำนวนนี้ที่เป็น ’แม่วัยรุ่น“ โดยเฉพาะที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 15-19 ปี ก็มีอัตรา “เพิ่มขึ้น!!”…

เคยชี้ไว้ถึง “โอกาสที่หายไปของแม่วัยรุ่น-ประเทศ”

และกับประเด็นนี้วันนี้ก็มีชุดข้อมูลที่ “ขยายความ”

เรื่องนี้กรณีนี้ “ผลกระทบลุกลามถึงมิติระดับชาติ!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องการ “ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม” กับเรื่องการเป็น “แม่วัยรุ่น” นั้น เรื่องนี้ได้มีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มีบทความชื่อ “โอกาสที่หายไปของแม่วัยรุ่นและสังคมไทย” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ โดยมีมุมสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าพิจารณา ซึ่งหลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอยู่ในระดับสูง ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียง ทำให้เกิดปัญหาสังคม ยังส่งผลให้ เกิดภาระทางสุขภาพ-ภาระทางเศรษฐกิจประเทศ ด้วย

ในบทวิเคราะห์-ในบทความดังกล่าวนี้ ได้มีการอ้างอิงถึงข้อมูลการสำรวจเรื่องการเป็น “แม่วัยรุ่น” ของประเทศไทย ปี 2560 ที่จัดทำโดย “Socio-Economic Survey” ซึ่งจากผลการสำรวจนั้นพบว่า…แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะจบการศึกษาสูงสุดแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ มีสัดส่วนการ “ตั้งครรภ์ในขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น” มากที่สุด

ขณะที่ในด้าน “รายได้ของแม่วัยรุ่น” นั้น พบว่า… แม่วัยรุ่นที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 159,305 บาท ส่วนในกลุ่มของ แม่วัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 121,867 บาทเท่านั้น ซึ่งนี่สะท้อนว่า… ไม่เพียงแค่ลดโอกาสทางการศึกษา แต่…การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นลดโอกาสในอาชีพและรายได้ อีกด้วย

ส่วน “ลักษณะสภาพทางสังคม” และ “ลักษณะสภาพทางเศรษฐกิจ” ของกลุ่ม “แม่วัยรุ่น” ส่วนใหญ่นั้น มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… จากรายงานเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ ปี 2561 กับปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่ พบว่า… แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล และ มักจะอยู่ในครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงาน รวมถึง การตั้งครรภ์มักจะเกิดซ้ำในครัวเรือนที่มีแม่เป็นวัยรุ่น …นี่เป็นลักษณะสภาพสังคม-สภาพเศรษฐกิจ “แม่วัยรุ่น”

โฟกัสที่ “ลักษณะด้านการศึกษา” ของกลุ่มแม่วัยรุ่น ผลสำรวจพบ 3 ลักษณะเด่น ได้แก่… กลุ่มแรกเป็น  “แม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แต่ยังกลับเข้าเรียน” ขณะที่กลุ่มที่สองจะเป็น “แม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วหลุดจากระบบการศึกษา” และกลุ่มที่สามคือ “แม่วัยรุ่นที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้วตั้งครรภ์” ขณะที่ “โอกาสทางรายได้ที่จะหายไป” นั้น ในบทความดังกล่าวชี้ว่า… หากแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม กรณีนี้ก็อาจยิ่งนำไปสู่การแบกรับภาระหลายประการของแม่วัยรุ่น โดยเฉพาะแม่วัยรุ่นที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้จะ “สูญเสียรายได้ในอนาคต” โดยเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน แม่วัยรุ่นกลุ่มนี้ จะเป็นได้แค่แรงงานที่ได้รับผลตอบแทนไม่สูง นอกจากนั้น สุขภาพของทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น ส่วนใหญ่ก็มักจะมีสุขภาพที่ไม่ดี…ซึ่งอาจนำไปสู่ “ภาวะพึ่งพิงทางการเงินของครอบครัว” มากขึ้น!!

นอกจากนี้ แม่วัยรุ่นยังต้องเผชิญกับรายได้ที่หายไป โดยแม่วัยรุ่นทั้ง 3 กลุ่มจะมีรายได้เฉลี่ยตํ่ากว่ากลุ่มวัยรุ่นช่วงวัยเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,811 บาทต่อคนต่อเดือน และจะยิ่งแตกต่างเพิ่มขึ้น ถ้าแม่วัยรุ่นไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องจากโอกาสการทำงาน และระดับรายได้ของแม่วัยรุ่น ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาและเวลาที่ต้องใช้ดูแลบุตร

มาถึงประเด็น…แล้ว “ปรากฏการณ์แม่วัยรุ่นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร??” ซึ่งประเด็นนี้มีการระบุไว้ว่า… ไม่เพียงแค่แม่วัยรุ่นจะสูญเสียโอกาสด้านรายได้ตลอดช่วงชีวิต แต่กรณีนี้ยัง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศด้วย โดยอาจทำให้ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าราว 8.3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 5.1% ต่อ GDP ขณะที่ในอนาคตอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.2% ต่อ GDP…นี่เป็น “ผลกระทบ” จาก “การสูญเสียโอกาสของแม่วัยรุ่น” ที่ไม่ได้กระทบแค่ครัวเรือน…แต่ “สะเทือนระดับชาติ!!”

สำหรับ “วิธีแก้ปัญหา” นั้น ในบทความที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ระบุไว้ว่า… ควรเริ่มจากนำแม่วัยรุ่นกลับเข้าระบบการศึกษาโดยไม่มีอุปสรรค เพื่อให้ได้มีโอกาสทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสมในอนาคต และ เร่งพัฒนาการศึกษานอกระบบให้มีคุณภาพทัดเทียมในระบบ ซึ่งแม่วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยไม่กลับเข้าเรียนในระบบ แต่เลือกเรียนนอกระบบแทน ขณะที่ “คุณภาพการศึกษา” จำเป็นอย่างมาก…เพราะเป็น “ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มรายได้” ของ “แม่วัยรุ่น”

ทั้งนี้ กับ “มาตรการเชิงป้องกัน” นั้น ก็ได้มีการเสนอแนวทางไว้ด้วย ผ่าน “5  มาตรการ” ได้แก่… 1.เพิ่มมาตรการการใช้ถุงยางอนามัย 2.ผลักดันให้เกิดเครือข่ายให้คำปรึกษาและยุติการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น 3.สนับสนุนการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (เมทตาบอล) 4.เสริมมาตรการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น 5.ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับแม่วัยรุ่น …เหล่านี้เป็นข้อมูลน่าพิจารณาเกี่ยวกับ แม่วัยรุ่น“ ที่มีบทความทีดีอาร์ไอสะท้อนไว้ รวมถึงมีการเสนอแนะแนวทางลดปัญหา…

ปัญหา “แม่วัยรุ่น” นี่เป็นปัญหาทั้งต่อตัวบุคคล-ประเทศ

นี่เป็นเสมือน “ระเบิด” อีกลูกหนึ่ง “ในสังคมไทย”

ที่ “บึ้มแบบไม่ค่อยดัง” แต่ “ก็อันตรายรุนแรง!!”.