กระทบปากท้อง

เงินกำไรที่ร้านอาหารหม้อไฟเผ็ดร้อนของหม่า ฮอง ลดลงประมาณ 20% นับตั้งแต่เปิดร้านในย่านดาวน์ทาวน์ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อปีที่แล้ว ที่ได้รับผลระด้วยราคาผ้าขี้ริ้วเนื้อวัว ซึ่งพุ่งขึ้นมากกว่า 50% และราคาวัตถุดิบหลักอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น

“เราขายในราคาที่เท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ และด้วยผลกระทบของโรคระบาด ทุกคนกำลังอดทนไว้อยู่ มันเหมือนกันหมดทั้งปักกิ่ง เราไม่ใช่ร้านอาหารเจ้าเดียวที่กำลังลำบาก” หม่า กล่าว

ร้านอาหารเอเชียและคนหาบเร่ตามท้องถนน เช่นเดียวกับหม่า ต้องเผชิญกับตัวเลือกที่ยากลำบาก ระหว่างรับแรงกระแทกจากราคาของที่สูงขึ้น หรือขึ้นราคาตามไป และเสี่ยงต่อการเสียลูกค้าประจำ ราคาวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เริ่มมาจากอุปสรรคห่วงโซ่อุปทานในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และตอนนี้ก็เป็นการบีบคั้นธุรกิจและลูกค้า จากสงครามในยูเครนที่เสริมเข้ามา

บรรดาครัวเรือนในเอเชีย ที่ซึ่งสตรีทฟู้ดที่อร่อยและหาซื้อได้เป็นส่วนสำคัญของสังคมและเศรษฐกิจ รู้สึกถึงแรงกดดันมากที่สุด

โมฮัมหมัด อิลยัส คนครัวที่ร้านข้าวหมก ในเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า ราคาอาหารปรุงรส 1 กก. ซึ่งเพียงพอสำหรับคน 3-4 คน มีราคาเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 400 รูปีปากีสถาน (ประมาณ 73 บาท)

“ฉันทำงานที่ครัวนี้มานาน 15 ปี” เขากล่าว “ราคาข้าวและเครื่องเทศทุกวันนี้เพิ่มขึ้นมาก จนคนจนไม่สามารถซื้อรับประทานได้”

Reuters

ธุรกิจบางอย่างรับมือต่อความกดดันด้านราคาด้วยการลดปริมาณสินค้า

หนึ่งในโซนอาหารริมทางของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ชาฮ์รุล ซาอินุลลาห์ ผู้ขายนาซีโกเร็ง ลดปริมาณในการเสิร์ฟข้าวผัดอินโดนีเซียที่เป็นซิกเนเจอร์ แทนการขึ้นราคา หรือใช้วัตถุดิบเกรดต่ำลง

ในเกาหลีใต้ ประเทศซึ่งเงินเฟ้อผู้บริโภคขึ้นสูงในรอบทศวรรษ ชเว ซุน-ฮวา เจ้าของร้านกิมจิ วัย 67 ปี ได้กะหล่ำปลีเพียงแค่ 7 หัว ในราคาที่เธอเคยจ่ายแล้วซื้อได้ 10 หัว ตามธรรมเนียม กะหล่ำปลีดองรสจัดจะถูกเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงฟรี คู่กับอาหารจานอื่นที่ร้านอาหารเกาหลี แต่ถึงอย่างนั้น มันก็กลายเป็นความสิ้นเปลืองไปเสียแล้ว

ซอ แจ-อึน ลูกค้าที่ร้านของชเว เล่นคำว่า กิมจิในตอนนี้ ควรจะเรียกว่า “กึม-จิ” ซึ่ง “กึม” ในภาษาเกาหลี แปลว่า ทองคำ “ทุกวันนี้ฉันไม่สามารถขอกิมจิเพิ่มจากทางร้านได้ และมันก็แพงเกินไปถ้าจะทำเองที่บ้าน เนื่องจากผักที่มีราคาสูง …ดังนั้นฉันจึงมาที่นี่เพื่อซื้อมัน” ซอกล่าว แต่ชเวบอกว่า ถ้าเธอไม่ขึ้นราคา เธอจะไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

ความกดดันทางราคาเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ของผู้บริโภคชาวเอเชียจำนวนหนึ่งด้วย

สตีเวน ฉาง พนักงานภาคบริการ อายุ 24 ปี เป็นลูกค้าประจำที่ จัสท์ นูดเดิลส์ ร้านราเม็งยอดนิยมในกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน แต่ตอนนี้เขาต้องพิจารณาเรื่องการใช้จ่ายใหม่

“ฉันอยู่ห่างจากพ่อแม่ ก็เลยต้องพึ่งอาหารในร้านอาหารมากขึ้นนิดหน่อย” ฉาง กล่าว “เพราะฉะนั้น ฉันจะพยายามจำกัดการกินข้าวข้างนอก และทำอาหารกินเองที่บ้านให้มากขึ้นแทน”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS