ที่มากสุดคือ 91 ปี!!!เป็น “อายุที่มากที่สุด” ของ “นักแสดงละครชาตรี” คณะนี้ ที่ทาง “สวธา เสนามนตรี” หรือ “ครูพุฒิ” วัย 39 ปี อาจารย์ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ข้อมูลไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยสำหรับครูพุฒินั้น นอกจากจะเป็นอาจารย์แล้ว ยังถือเป็นแกนนำคนสำคัญที่ได้ก่อตั้ง “คณะละครชาตรี” คณะนี้ขึ้นมา ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูเส้นทางและเรื่องราวของ “คณะละครชาตรีวัยเก๋า” คณะนี้กัน…

คณะละครชาตรีคณะนี้มีชื่อว่า กลุ่มละครชาตรีบ้านท่าช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยมากกว่าในชื่อ “คณะชราชาตรี” ซึ่งที่มาของชื่อนี้มาจากอายุอานามของนักแสดงที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ โดยเรื่องนี้ ครูพุฒิ-สวธา แกนนำก่อตั้งละครชาตรีคณะนี้ ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า นักแสดงคณะนี้เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาด โดยลูกหลานของนักแสดงอาวุโสเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในชุมชน ช่วยกันก่อตั้งคณะขึ้นมา เป้าหมายก็ทั้งเพื่ออนุรักษ์การแสดงที่เก่าแก่ประเภทนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป รวมถึงเพื่อช่วยให้ศิลปินอาวุโสเหล่านี้ได้มีรายได้ด้วย

หนึ่งในสมาชิกละครชาตรีคณะนี้ คือ “คุณยายมณี ญาณโกมุท” วัย 82 ปีซึ่งเริ่มเล่นละครชาตรีมาตั้งแต่ตอนที่อายุ 15 ปี ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าสมัยก่อนไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ โดยในอดีตเวลาที่คุณยายและคณะจะไปทำการแสดงนั้น ส่วนใหญ่ก็จะต้องใช้วิธีเดินเท้าไปตามคันนา ซึ่งบางครั้งก็ต้องเดินกันแบบข้ามวันข้ามคืนเพื่อไปทำการแสดงนอกพื้นที่

’สมมุติว่าพรุ่งนี้จะต้องแสดง คณะละครก็ต้องออกจากบ้านไปตั้งแต่เช้าของวันก่อนทำการแสดง เพื่อให้ทันกับเวลาที่จะต้องแสดงโชว์“ คุณยายมณี กล่าว และก็ยังเล่าให้ฟังต่อไปว่ายิ่งถ้าต้องเดินทางไปแสดงในช่วงที่นากำลังอยู่ในช่วงไถ การเดินทางก็จะลำบากมากยิ่งขึ้น ’เดินกันจนเท้าระบม เพราะไม่มีรองเท้าใส่ หรือบางทีถ้าฝนตก ก็ต้องเดินตากฝนกันไปจนถึงสถานที่ทำการแสดง หรือบ้านของเจ้าภาพ เพราะไม่มีที่ให้หลบฝน“

เป็นความยากลำบากของนักแสดงในอดีต ที่คุณยายท่านนี้ได้ฉายภาพไว้ โดย คุณยายมณี เล่าอีกว่า ยิ่งเป็นคนที่เพิ่งคลอดลูก หรือเพิ่งจะมีลูกอ่อน สถานการณ์ก็จะยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะไม่สามารถไปค้างอ้างแรมได้เหมือนนักแสดงคนอื่น ๆ เพราะต้องเดินกลับบ้านมาเพื่อให้นมลูก อย่างคุณยายเองนั้นมีลูก 7 คน (ตอนนี้เหลือ 3 คน) ทำให้เมื่อทำการแสดงเสร็จ คุณยายก็จะต้องรีบเดินกลับบ้านมาเพื่อที่จะให้นมลูก โดยคุณยายใช้ชีวิตในฐานะนักแสดงละครชาตรีมาจนถึงอายุ 50 กว่า จึงตัดสินใจยุติเส้นทางนี้ อย่างไรก็ดี สาเหตุที่หวนคืนกลับเวทีนั้น ทางคุณยายบอกว่า เริ่มจากการที่ ครูพุฒิสวธา มาชวนคุณยาย ซึ่งตอนแรกคุณยายก็ได้ปฏิเสธไป เพราะรู้ตัวว่าอายุมากแล้ว แต่สุดท้ายก็ทนลูกตื๊อของครูพุฒิไม่ได้

คุณย่า-คุณยาย สอนหลาน ๆ รำละครชาตรี

’ใหม่ ๆ ตอนที่ครูพุฒิมาชวน ยายก็ปฏิเสธ โดยยายบอกแกไปว่า ยายแก่แล้ว แข้งขาก็ไม่ดี ไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่ครูพุฒิก็ไม่ละความพยายาม จนยายใจอ่อน จึงตกลงไปว่า ไปลองดูก็ได้ ซึ่งเรื่องรายได้นั้นก็เรื่องหนึ่งที่ดีใจ แต่ที่มีความสุขมากกว่าคือการที่เราได้มาพบปะกับนักแสดงรุ่นราวคราวเดียวกันอีกครั้ง จนเหมือนว่า…วันวานสมัยอดีตได้ย้อนคืนกลับมาหาเรา“ นักแสดงละครชาตรีรุ่นคุณยายท่านนี้เล่าเรื่องนี้ด้วยดวงตาที่เป็นสุข

และคุณยายมณี นักแสดงละครชาตรีวัย 82 ปี ยังบอกอีกว่า เงินค่าตัวที่ได้จากการทำการแสดงนั้น คุณยายจะนำไปทำบุญบางส่วน และบางส่วนก็จะเก็บไว้เพื่อนำไปซื้อขนมให้กับหลาน ๆ ขณะที่ในส่วนของ “การแสดง” นั้น คุณยายเล่าว่า คุณยายยังจำบทได้แม่น เรียกว่าไม่ต้องให้ทีมงานมานั่งบอก บทเลย เหมือนกับบทที่จะเล่นอยู่ในตัวของคุณยายอยู่แล้ว และอีกเรื่องที่ทำให้แปลกใจก็คือ เวลาอยู่บ้านนั้น คุณยายจะมีโรคประจำตัว เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไม่ค่อยมีแรง แต่พอได้หวนกลับมาแสดง ปรากฏว่าทุกครั้งที่จะขึ้นแสดง อาการปวดเมื่อย อาการแขนขาไม่มีแรงก่อนหน้านี้ ได้มลายหายไปหมดสิ้น ซึ่งพอลูกหลานของคุณยายเห็นว่าคุณยายกลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง ทุกคนก็ยิ่งสนับสนุนให้คุณยายยังแสดงละครชาตรีต่อไป

ขณะที่อีกหนึ่งสมาชิกของละครชราชาตรีคณะนี้ อย่าง “คุณยายประทุม แพรสุวรรณ” หรือ “คุณยายทุม” วัย 83 ปี ก็ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า พออายุได้ 11 ขวบ คุณยายก็เริ่มหัดละคร และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ขึ้นแสดงบนเวที จนเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ที่สุดคุณยายก็ได้โบกมือลาเวทีการแสดงในวัย 58 ปี เนื่องจากมองว่ามีคลื่นลูกใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่าอย่างคุณยายแล้ว จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ทางครูพุฒิก็ได้เข้ามาชักชวนให้คุณยายหวนคืนกลับสู่เวที ซึ่งหลังจากตัดสินใจอยู่พักหนึ่ง คุณยายก็ตอบตกลง จนกลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของ “คณะชราชาตรี” คณะนี้

ลีลาบนเวทีของนักแสดงวัยเก๋า

’อาชีพนี้ยายทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอต้องเลิกไปก็มีเศร้านิดหน่อย และพอได้มีโอกาสกลับมาแสดงอีกครั้งก็ทำให้ยายมีความสุขมาก อีกเรื่องที่ดีใจก็คือการที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ ๆ หันมาสนใจการแสดงพื้นบ้านโบราณชนิดนี้ ทำให้รู้สึกดีใจว่าละครชาตรีคงจะไม่สูญหายไปจากเมืองไทยแน่ ๆ“ คุณยายท่านนี้บอกถึงความรู้สึก ก่อนจะบอกเล่าให้ฟังอีกว่า จริง ๆ คุณยายเคยคิดว่าชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้หวนกลับเวทีแสดงอีกแล้ว เพราะวิถีชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบปี คืออยู่บ้านเฉย ๆ ไปวัน ๆ แต่ก็มีบางวันที่ทนคิดถึงอาชีพเดิมไม่ไหว ก็จะลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงอยู่ในบ้านคนเดียว เพื่อไม่ให้ลืม ซึ่งตอนที่ถูกชวนให้กลับมาแสดงอีกครั้ง ตอนนั้นคุณยายเรียกว่านับวันรอให้ถึงวันทำการแสดง เพราะอยากแสดงมาก

’แรก ๆ ลูกหลานก็กังวล เพราะเห็นว่ายายแก่แล้ว แต่พอเขาเห็นว่าเป็นความสุขของเรา เขาก็เลยปล่อย แต่ก็คอยดูอยู่ห่าง ๆ“ คุณยายประทุมบอกเรื่องนี้ด้วยนํ้าเสียงมีความสุข พร้อมทั้งยังเล่าให้ฟังว่า ละครชาตรีสมัยก่อนมักใช้ผู้หญิงแสดง และส่วนใหญ่คุณยายมักถูกเลือกให้เล่นเป็นตัวพระเอก เพราะท่าทางทะมัดทะแมง ส่วนเรื่องที่แสดงก็เป็นประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น สังข์ทอง, ไกรทอง, ขุนช้าง-ขุนแผน, แก้วหน้าม้า, พระอภัยมณี, กายเพชร-กายสุวรรณ, พิกุลทอง เป็นต้น

แต่งหน้าให้กันก่อนแสดง

’ตอนนี้ที่ยายมักจะถูกถามก็คือ แก่แล้วจำบทได้เหรอ? ส่วนใหญ่ก็จำได้นะ แต่ก็มีบางทีที่ลืมบ้างเหมือนกัน ซึ่งแต่ก่อนด้วยความที่ยายอ่านหนังสือเก่ง ครูที่โรงละครจึงมักจะมอบหมายหน้าที่ให้ยายช่วยบอกบทให้กับนักแสดงคนอื่น ๆ และที่ดีใจมาก ๆ ก็คือ ตอนที่มีนักศึกษามาขอสัมภาษณ์ยายเพื่อนำไปทำงานวิจัย ซึ่งยายก็เล่าให้เขาฟังแบบหมดเปลือก เพราะอยากจะให้ประสบการณ์ของยายถูกบันทึกไว้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อที่ศิลปะพื้นบ้านเก่าแก่จะได้อยู่คู่ประเทศไทยต่อไป ที่กลับมาแสดงอีกนี่ เรื่องรายได้นั้นมากน้อยยายไม่เกี่ยง ขอให้ได้แสดงก็แล้วกัน เรียกว่ายายขอยอมตายหน้าเวที เป็นอีกส่วนจากการบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มของ คุณยายประทุม

ฟัง “นักแสดงวัยเก๋า” เล่าแล้ว ลองมาฟังความรู้สึกของ “แกนนำคนสำคัญ” ที่ผลักดันคณะละครชาตรีคณะนี้ดูบ้าง โดย ครูพุฒิ-สวธา เล่าว่า ตอนโควิด-19 ระบาดแรก ๆ เขาก็ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ชุมชนวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง” ซึ่งเป็นชุมชนศิลปิน ที่ไม่สามารถออกไปแสดงหรือออกไปทำมาหากินอะไรได้เลย ซึ่งในฐานะลูกหลานของชุมชน ทำให้เขาพยายามมองหาว่าจะสามารถช่วยเหลือศิลปินในชุมชนได้อย่างไร ต่อมาก็คิดถึงเหล่าศิลปินอาวุโสของชุมชนที่เลิกแสดงไปในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา และเกิดไอเดียที่อยากจะรวบรวมนักแสดงรุ่นคุณปู่คุณย่ากลับมารวมตัวกันอีกครั้ง อยากให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมในวัยชรา อีกทั้งยังช่วยสืบสานละครชาตรี จึงเกิดเป็น “คณะชราชาตรี” ในที่สุด

สังขารไม่ค่อยไหว แต่ใจเต็มร้อย

’ตอนแรกที่ผมไปชวนคุณย่าคุณยายเหล่านี้ ไม่มีใครยอมกลับมาแสดงเลยนะ (หัวเราะ) เพราะบางคนก็รู้สึกอายว่า แก่จะเข้าโลงกันอยู่แล้ว จะให้แต่งหน้าแต่งตาขึ้นเวทีเหมือนสาว ๆ ได้เหรอ อีกอย่างใครจะมาดู เพราะเด็กเดี๋ยวนี้จะรู้จักละครชาตรีเหรอ แต่สุดท้ายก็ยอมฟังผม และยอมกลับมาแสดงอีกครั้ง ปรากฏว่าหลังจากการไลฟ์สดครั้งแรกออกไป ฟีดแบ็กดีมาก เรียกว่าดีเกินคาดเลย“ ครูพุฒิบอกเล่าเรื่องนี้ด้วยแววตามีความสุข

ทั้งนี้ ครูพุฒิ-สวธา ได้บอกทิ้งท้ายไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ด้วยว่า หลังจากที่ได้มาสัมผัส “ชีวิตนักแสดงวัยเก๋า” เหล่าคุณย่า-คุณยาย คุณปู่-คุณตาเหล่านี้ ทำให้สัมผัสได้ถึง “ความเป็นศิลปินอาชีพ” ของนักแสดงรุ่นอาวุโสเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งการแสดงก็เป็นงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน เช่น ช่วยเหลือนักศึกษาที่อยากทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นักแสดงอาวุโสเหล่านี้ก็ไม่ได้บ่นหรือต่อว่าอะไร ทุกคนต่างเต็มใจช่วย เพราะ… ’ทุกคนต่างก็อยากมีส่วนช่วยทำให้การแสดงนี้ยังคงอยู่…

อยากให้ละครชาตรีอยู่คู่คนไทยไปนาน ๆ“.

‘รอยยิ้ม’ ของผู้ชม ‘มีค่ากว่าเงิน’

ครูพุฒิ-สวธา เสนามนตรี

นอกจากจะช่วยให้ “ศิลปิน” อย่าง “นักแสดงละครชาตรีวัยเก๋า” กลุ่มนี้ได้มีรายได้จากการแสดงแล้ว ครูพุฒิ-สวธา ยังบอกถึง “เป้าหมายสำคัญ” ในการฟื้น “คณะละครชาตรีชุมชนวิเศษชัยชาญ” ว่า ไม่เพียงช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีกิจกรรมคลายเหงา ไม่ปล่อยทิ้งชีวิตไปวัน ๆ เหมือนเก่า เขายังต้องการให้กิจกรรมนี้ช่วยทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึง “คุณค่าของผู้สูงอายุ” ซึ่ง “รอยยิ้มของผู้ชม” ที่มีให้กับ “นักแสดงอาวุโส” เหล่านี้ มีค่ามากกว่าเงินทองที่จะได้รับ และคำชมต่าง ๆ ที่มีเข้ามานั้น ช่วยทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้รู้สึกว่า… ’ยังคงมีตัวตนอยู่ในสายตาของลูกหลาน“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน