การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 65 รอบที่ 2 มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 49,619.73 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ช่วงวิกฤติโควิด-19 และรัฐวิสาหกิจกู้เงินลงทุน

จากการก่อหนี้ใหม่ดังกล่าว ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับขึ้นไป 62.76% แต่ยังไม่เกินเพดานที่รัฐบาลพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขยายไปที่ 70%

นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังเปิดเผยถึงการแก้หนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศให้ปี 65 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ดังนั้นในส่วนของกระทรวงการคลังจึงมอบนโยบายให้ 5 แบงก์รัฐ

ครม.ผ่อนผันใช้พื้นที่ป่าขยายถนน | เดลินิวส์

ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารอิสลาม เข้าไปดูแลลูกหนี้ของตนเอง โดยให้ดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติให้ได้

แม้ว่าที่ผ่านมาแบงก์รัฐ มีการดำเนินมาตรการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการชะลอการฟ้องร้องลูกหนี้ ไม่ใช่เฉพาะช่วงเกิดวิกฤติต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียอาจจะอยู่ในระดับเพิ่มขึ้น โดยออมสิน และ ธ.ก.ส. มีหนี้เสียมากที่สุด เพราะต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนมาก

พยัคฆ์น้อย” เห็นข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศไทยตอนนี้ใกล้แตะ 10 ล้านล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ยแค่ 2% ต่อปี หนี้ก้อนนี้มีภาระดอกเบี้ยปีละ 2 แสนล้านบาท หรือตกเดือนละ 1.66 หมื่นล้านบาท

หนี้ครัวเรือนอีก 14.5 ล้านล้านบาท ไหนจะเป็นหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 9 แสนราย มีหนี้รวมกันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

โดยหนี้ครัวเรือน หนี้ครูและบุคลากรการศึกษา ถ้ากู้มาซื้อทรัพย์สิน ซื้อที่อยู่อาศัย หรือกู้ลงทุนได้ดอกออกผลก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้ากู้มาเพื่อการใช้จ่าย อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และเป็นหนี้นอกระบบ อันนี้เหนื่อยแน่!

ช่วงก่อนสงกรานต์ นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่าในปีบัญชี 64 สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 9.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.63% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 63 ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.7% ของสินเชื่อรวม เป็นผลมาจากปี 64 การแพร่ระบาดโควิดยังอยู่ในระดับสูง กระทบรายได้ของเกษตรกร กับปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมช่วงกลางปี และภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

แต่ “พยัคฆ์น้อย” มองว่าสาเหตุอีกอย่างคือปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก ป้วนเปี้ยนอยู่ตันละ 6,000-7,500 บาท มาหลายปีแล้ว ชาวนาได้กำไรต่อไร่น้อยจริง ๆ บางฤดูกาลเพาะปลูกอาจขาดทุนเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องเช่าที่ทำนา แม้จะมีโครงการประกันราคาก็ตาม แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไม่ได้ดีขึ้น

ขณะที่ ธอส. ปลายปี 64 มีหนี้ NPL ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 65 NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 หมื่นล้านบาท

สรุปภาพรวมคือ “หนี้ท่วมประเทศ” เป็นหนี้กันเพียบทุกหย่อมหญ้า คนจนเกือบ 20 ล้านคน แต่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ กลับส่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไปแก้จนให้ชาวบ้าน ซื้อเวลากันไปวัน ๆ!!.

————————
พยัคฆ์น้อย