การนำเรื่องราวบุคคลหรือเหตุการณ์ครึกโครมมาพูดหรือโพสต์อย่าง “ไม่ถูกกาลเทศะ” และโดยเฉพาะที่ออกแนว “ล้อเลียน” นั้น ผู้ที่กระทำเจอกระแส “ท้วงติง-ตำหนิ” หรือถึงขั้น “เป็นเรื่อง-เป็นคดี” มีปรากฏมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ ในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลาย ซึ่งหลายกรณีผู้ที่กระทำก็ไม่ได้ตั้งใจ-มิได้มีเจตนาไม่ดี แต่…หลายกรณีผู้ที่กระทำก็มีพฤติกรรมจงใจ…

กับการกระทำลักษณะนี้…บางคนจ้องจะทำตลอด

บางคนนี่ฝักใฝ่มาก…กับการหากรณีมา “ล้อเลียน”

และก็มี “ปุจฉา”…นี่ “เพราะคะนองหรือป่วยจิต??”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “พฤติกรรม-นิสัย” ของบางคนที่มักจะ “ชอบนำเหตุการณ์ไม่ดีมาล้อเลียน” หรือ “ชอบนำกรณีร้าย ๆ มาใช้เป็นมุกตลก-มุกขำขัน” นั้น กับเรื่องนี้ก็มีการเตือนไว้ใน “มุมจิตวิทยา” ด้วยเช่นกัน โดยทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้สะท้อนแง่มุมผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยระบุถึงการที่บางคน “ชอบแสดงออกผ่านพฤติกรรมเชิงลบ” ในลักษณะเช่นนี้ ว่า…

สำหรับ “พฤติกรรมเชิงลบ” ในรูปแบบดังกล่าวนี้ บางคนอาจจะ “ไม่ได้มีเจตนา” ที่จะไปสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก็ได้ โดยบางคนนั้นก็อาจจะต้องการเพียงแค่ “อยากดัง” หรือเพื่อ “เรียกร้องความสนใจ” ด้วยการ นำเหตุการณ์ร้าย ๆ มาใช้เพื่อให้เกิดกระแส เพราะต้องการให้คนหันมาให้ความสนใจ รวมถึงอาจ “อยากทำให้ตนเองมีตัวตนมากขึ้น” จึงเลือกหยิบยกนำเอาเหตุการณ์ที่สังคมกำลังสนใจมาใช้เป็น “มุกขำขัน-มุกล้อเลียน” โดยกรณีเช่นนี้ ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ในไทยก็เกิดกระแสติเตียนอื้ออึง นี่ไม่ใช่การเกิดขึ้นครั้งแรกในไทย ที่ผ่านมาก็มีกรณีลักษณะนี้เนือง ๆ

มิได้มีเฉพาะแค่การใช้เรื่องคนดัง แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ

ที่นำมาใช้เป็น “มุก” โดย “หวังให้สังคมหันมาสนใจ”

ทาง ดร.วัลลภ นักจิตวิทยา ได้อธิบายถึงลักษณะของพฤติกรรมดังกล่าวนี้ไว้เพิ่มเติมว่า… การกระทำในลักษณะเช่นนี้ ยุคนี้บางช่วงก็เกิดขึ้นบ่อยมากในสังคม จนบางทีสังคมอาจจะรู้สึกชาชินหรือเกิดความคุ้นเคยกับพฤติกรรมหรือนิสัยแบบนี้ จนดูเป็นเรื่องปกติ-จนมองเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใคร ๆ ก็สามารถจะกระทำได้ โดย มักจะคิดกันว่า…ไม่ใช่เรื่องใหญ่?-ไม่ใช่เรื่องผิด? หรือไม่ได้เป็นความผิดปกติทางจิต? แต่อย่างใด ซึ่ง “เป็นแนวคิดที่น่ากลัว” เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ดร.วัลลภ ระบุถึงเรื่องนี้ต่อไปว่า… อย่างกรณีในต่างประเทศ ที่เป็นกระแสทั่วโลก ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ โดยมีผู้ที่นำเอา “ปมด้อยทางร่างกาย” ของภรรยานักแสดงชายชื่อดังคนหนึ่ง มาเป็น “มุกล้อเลียน-มุกขำขัน” บนเวทีดังกล่าว จนทำให้นักแสดงชายรายนี้ขึ้นไปทำร้ายร่างกายผู้ที่ล้อเลียน จนเกิดกระแสอื้ออึงไปทั่วโลก ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้พฤติกรรมแย่ ๆ อย่างไรก็ตาม กับกรณีแบบนี้ทั่ว ๆ ไป คนที่ล้อเลียนคงรู้สึกสนุก คนที่ได้ยินได้ฟังบางคนก็อาจจะเช่นกัน ในขณะที่ “ฝ่ายผู้ถูกล้อเลียน” นั้นอาจจะรู้สึก “ไม่ขำด้วย” กับเรื่องนี้!!

นักจิตวิทยาท่านเดิมสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… “การพูดโดยไม่ยั้งคิด-การไม่คิดก่อนพูด” แบบนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นลักษณะเด่นที่ตอนนี้ มีโอกาสพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย โดยกรณีที่ “ไม่เหมาะสม” แบบนี้ “เกิดเป็นดราม่าบ่อยครั้ง” ซึ่งถ้ามุกล้อเลียนเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ดี…ก็อาจจะไม่เกิดฟีดแบ็กแย่ ๆ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรื่องที่นำมาล้อนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่นนี้ก็อาจจะทำให้เกิดกระแสลบตีกลับมาที่คนล้อ กลายเป็น “ดราม่าตีกลับ” มากระทบกับคนที่กระทำ…

“การพูดโดยไม่คิด กำลังเป็นปัญหามากในสังคมไทยในตอนนี้ ยิ่งยุคนี้เป็นยุคโซเชียล การจะพูดอะไรไปจึงต้องระมัดระวังให้มาก ๆ เพราะเมื่อพูดไปแล้ว กับคนกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่หากมีการเผยแพร่ไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่ง เรื่องที่พูดไปนั้นก็อาจจะไม่ขำ หนำซ้ำยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแย่ ๆ กับผู้ที่พูดก็ได้” …ดร.วัลลภ ระบุ

เพื่อที่จะย้ำทุก ๆ คน…“ควรให้ความสำคัญกับการพูด”

โดยเฉพาะ…“คนสาธารณะ” หรือ “พูดในที่สาธารณะ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง ดร.วัลลภ ยังได้ระบุด้วยว่า… “การพูดที่ดีคือการพูดที่ถูกกาลเทศะ” เช่น รู้ว่าเวลานี้ควรพูดหรือไม่ควรพูดเรื่องใด? หรือสถานที่ใดควรพูดหรือไม่พูดเรื่องไหน? ซึ่งเรื่องของการพูดที่ถูกต้องเหมาะสมนี้ ถือเป็น “ทักษะสำคัญ” ที่คนรุ่นใหม่ต้องฝึกฝนให้มาก และที่ก็สำคัญ “ก่อนจะพูดควรต้องคิด” และ “เน้นพูดในเชิงสร้างสรรค์” จะเป็นการดีที่สุด

“คนที่ชอบนำเรื่องราวที่เป็นกระแสไปพูดหรือไปล้อเลียนนั้น เป็นเรื่องของความอยากดังหรืออยากทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้นมากกว่า คงยังไม่ถึงขั้นมีปัญหาทางจิต อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าปล่อยให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กรณีนี้ก็อาจทำให้คนคนนั้นหลงผิด จนพฤติกรรมนี้เป็นนิสัยแย่ ๆ ติดตัวไปเลย” …เป็นคำเตือนจาก ดร.วัลลภ ที่ย้ำให้คนที่มี “นิสัยไม่เหมาะสม” เช่นนี้ “ปรับปรุงนิสัย-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” แบบนี้…

เพื่อที่จะไม่กลายเป็น…คนที่มีอาการแบบหลงผิด”

จะไม่ เสพติดตลกร้าย”…เป็น พฤติกรรมถาวร”

ติด ล้อเลียนร้าย ๆ”…จน ตัวเองแหละเละ!!”.