ก้าวสู่ปีใหม่ของไทยในช่วง “เทศกาลสงกรานต์” กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในช่วงเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปีนั้น ทั่วทุกภูมิภาคของไทยก็จะจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำ รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ล้วนเป็นกิจกรรมที่เราคุ้นตา แต่เคยทราบกันบ้างหรือไม่ว่า.. อันที่จริงแล้ว กิจกรรมดังกล่าว เขาทำกันไปทำไมกัน? วันนี้ เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นอกจากการเล่นน้ำ สาดน้ำใส่กันแล้ว คือ การทำบุญตักบาตร แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีอีก 3 กิจกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานาน ไม่ว่าจะเป็น 1.การสรงน้ำพระ 2.การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และ 3.การก่อเจดีย์ทราย แต่รู้หรือไม่ 3 กิจกรรมที่ว่านี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร และทำไมต้องปฏิบัติตามประเพณีนั้นด้วย

ทำไมต้อง สรงน้ำพระ?
ประเพณีสงกรานต์ การสรงน้ำพระ จะมีด้วยกันทั้งการสรงน้ำพระสงฆ์ และพระพุทธรูป โดยเฉพาะการนำเอาพระพุทธรูปซึ่งอยู่ประจำบ้าน นำมาสรงน้ำพระ ด้วยน้ำอบ พร้อมดอกไม้ และพวงมาลัย ซึ่งตามความเชื่อโบราณแล้ว การสรงน้ำพระ ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วต้องการถวายน้ำอบน้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ เพราะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่

นอกจากนี้ การสรงน้ำพระ ยังถือได้ว่า เป็นการเริ่มต้นสิ่งที่เป็นมงคลในวันปีใหม่ด้วย จะทำให้เกิดความสุขความร่มเย็นตลอดปีใหม่ ขณะเดียวกัน ยังมีความเชื่อว่า การสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการทำความสะอาดพระที่ตลอดทั้งปีเราได้กราบไหว้ ขณะที่การสรงน้ำพระสงฆ์ เป็นการช่วยให้ท่านเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปีด้วย

ทำไมต้องรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่?
ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เชื่อว่า การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพ และขอขมาสำหรับการกระทำไม่ดีที่ผ่านมา หากมีการกระทำที่ล่วงเกินผู้ใหญ่ โดยจะมีการเตรียมน้ำอบ น้ำสะอาด ดอกไม้สด หรือพวงมาลัย นำไปรดน้ำดำหัวและไหว้ผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ที่ไปรดน้ำดำหัว ให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้นั้น เนื่องในโอกาสที่จะก้าวสู่ปีใหม่

นอกจากนี้ ยังมี การรดน้ำ ซึ่งเป็นการรดน้ำอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือบุคคลที่อายุไม่ได้แตกต่างกันมากด้วย ขณะเดียวกันบางท้องถิ่น อย่างเช่นในทางภาคเหนือ ของที่ใช้ในการดำหัวหลักๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้ เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสว่า ไม่ว่าเป็น พระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่เช่นกัน

ทำไมต้อง ก่อเจดีย์ทราย?
หนึ่งในกิจกรรมวันสงกรานต์ที่ตามวัดต่างๆ มักจะมีกิจกรรมให้เราได้เห็นกันนั้นก็คือ การจัดให้มีการก่อเจดีย์ทราย รวมถึงการประกวดการก่อเจดีย์ทราย ซึ่งในด้านความเชื่อสมัยโบราณ ได้แฝงคติความเชื่อไว้ว่า ตลอดทั้งปีชาวบ้านที่เข้ามาในวัด จะมีเศษดินเศษทรายติดเท้าออกไปนอกวัด ถือเป็นการทำบาปโดยไม่รู้ตัว ทำให้พอถึงเทศกาลปีใหม่ไทย จึงควรทำบุญด้วยการขนทรายมาไว้ในวัด แต่แทนที่จะขนมาไว้เฉย ๆ ก็มีการจัดการประกวด การแข่งขัน เพื่อความสนุกสนานด้วย และอีกกุศโลบายหนึ่ง คือ เป็นการทำให้ชาวบ้านในชุมชน เกิดความรักความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และยังเป็นการช่วยเหลือทางวัด ในการขนทรายมาไว้ในวัด เพื่อที่ทางวัดจะได้นำเอาทรายไปใช้งานโดยไม่ต้องซื้อหรือเสียค่าจ้างในการขนทรายในภายหลังนั่นเอง..