ย่างเข้า 3 ปีแล้ว ที่ เจ้าไวรัสมรณะ โควิด-19 มาเยือนจนทำให้ บรรยากาศสงกรานต์สาดน้ำปีใหม่ไทย เงียบเหงาไม่คึกคักเหมือนเดิม ก่อนหน้านี้ย้อนไปปี พ.ศ. 2563 ถึงขั้นต้องเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ออกไปเดือน ก.ค. มาตรการมีสารพัดงดทั้ง งดเล่นสาดน้ำ, งดจัดงานสงกรานต์ทุกประเภท, งดการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ทุกกรณี รวมถึงงดเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะอยู่ในช่วงโควิด-19 กำลังยกระดับ

ถ้ายังพอจำกันได้ไม่ลืม คุมเข้มห้ามเข้าไป “พื้นที่สีแดง” จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง หากเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยงจะต้องมีใบผ่านได้รับอนุญาต!!

ถัดมา พ.ศ. 2564 เริ่มจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ กิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ ตามประเพณี หรือรูปแบบที่กำหนดตามแบบฉบับ ชีวิตวิถีใหม่ พอจะเดินทางข้ามจังหวัดไปได้ทุกพื้นที่ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด หากจัดกิจกรรมทางศาสนาช่วงสงกรานต์ต้องจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบ หรือในห้องปรับอากาศ และยังคงกฎเหล็กคุมเข้มตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะการละเล่นสาดน้ำ งดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต การสัมผัสใกล้ชิด เช่น ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ฯลฯ

ในส่วนของปีนี้ประชาชนชาวไทยมีวัคซีนกันเต็มแขน 3-4 เข็ม ถือว่าเริ่มค่อย ๆ ผ่อนคลายล็อกลงบ้าง แม้ เจ้าโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ยังคงอาละวาด ยอดติดเชื้อใหม่ รายวันทะลุหลัก 2 หมื่นคน ผู้เสียชีวิต ขยับขึ้นหลักร้อย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่อาการเริ่มไม่รุนแรงจึงไม่ต้องกักตัวรักษายาวนานเหมือนช่วง 2 ปีแรก

เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย พ.ศ. 2565 ผู้คนจึงเริ่มทยอยกลับบ้านตามภูมิลำเนาต่างจังหวัดค่อนข้างคึกคัก ตั้งแต่วันหยุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศเก่า ๆ พอจะหวนคืนกลับมาบ้าง โดยเฉพาะสัญลักษณ์ทุกเทศกาลวันหยุดยาว “มิตรภาพยังเหมือนเดิม” รถติดขัดยาวเหยียด รวมถึงเส้นทางขึ้นภาคเหนือถนนสายเอเซียก็เริ่มเป็นข่าวให้เห็นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ออกโรงเน้นย้ำไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และ กรุงเทพ มหานคร เตรียมความพร้อมตามมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการ และแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยง โดยยังคงคุมเข้ม ห้ามจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟม ประแป้ง รวมถึงดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่สำคัญผู้จัดงานกิจกรรมรวมกลุ่ม ต้องประเมินตัวเองด้วยตามมาตรการ COVID Free Setting ต้องแจ้งให้ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) หรือ สำนักงานเขตฯ ทราบ นอกจากนี้ภายหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ ควรสังเกตอาการตนเอง 7-10 วัน หลายบริษัทฯต่างก็งัดมาตรการใครเดินทางกลับต่างจังหวัด ก่อนเข้ามาทำงานต้องแสดงผลตรวจ ATK เพื่อยืนยันว่าปลอดเชื้อ

เรียกว่านอกจากจะคุมเข้มโควิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งยังคงอยู่คือ รณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย เริ่ม 12-18 เม.. 2565 ทั้งด่านจราจรป้องกันอุบัติเหตุและจุดตรวจแอลกอฮอล์ก็กลับมาด้วย หยุดยาวสงกรานต์ปีนี้จึงต้องระวังทั้ง โควิด-อุบัติเหตุ ควบคู่กันไปด้วย

ปีที่แล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วัน (10-16 เม.. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน

ในเมื่อบรรยากาศสงกรานต์ปีนี้ เริ่มคึกคักอีกครั้ง!! ดูได้จากปริมาณรถยนต์ที่ทยอยออกจากกรุงเทพมหานคร “เชิงผา” ขอให้ผู้อ่านเดลินิวส์ รวมถึงประชาชนชาวไทยทุกท่าน ได้มีความสุขอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ปลอดภัยจากโควิดฯ รวมถึงเดินทางไป-กลับ อย่างสวัสดิภาพครับ.