เหลือเวลาอีกเดือนกว่า ๆ “คนกรุงเทพฯ” ก็จะได้ใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” กันแล้ว หลังว่างเว้น “ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง” มานานราว 9 ปี ซึ่งระหว่างที่บรรดา “ผู้สมัครชิงตำแหน่ง” กำลังแข่งขันขับเคี่ยว “หาเสียงนำเสนอนโยบายเพื่อซื้อใจคนกรุง” กันนั้น ก็มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะคู่ขนานเพื่อ “แลกเปลี่ยน-เสนอแนะ” รวมถึงเพื่อ “สะท้อนข้อเรียกร้อง” ไปถึง “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ด้วย โดยหนึ่งในข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือการเสนอให้ “เร่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ให้กับ “เด็กในกรุงเทพฯ” เพราะในขณะที่กรุงเทพฯ เป็น “เมืองหลวง” ของไทย…

“กรุงเทพฯ” มีสถานะเป็น “เมืองศูนย์กลางของไทย”

แต่กลับ “ยังมีปัญหามากมายด้านระบบการศึกษา!!”

เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

สำหรับ “ข้อเสนอ” ดังกล่าวนี้ ได้มีการสะท้อนไว้บนเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งได้สะท้อน “ภาพความเหลื่อมล้ำ” เรื่องนี้ไว้ว่า… แม้แต่กรุงเทพฯ ก็ยังมีครอบครัว “เด็กยากจน” ที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคเบื้องต้น ซึ่งถึงแม้มีนโยบายเรียนฟรี แต่ก็ “เสี่ยงหลุดจากระบบ” ได้ทุกเมื่อ…

ทั้งนี้ ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ ได้สะท้อนแจกแจงไว้ว่า… “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ที่เกิดขึ้นกับ “เด็กยากจนในกรุงเทพฯ” นั้น ยิ่งถูกเขย่าให้หนักขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็มีโอกาสทำให้เด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ไม่สามารถจะไปต่อได้ และ ถ้าหากเด็ก ๆ เหล่านี้ไปต่อไม่ได้ กรุงเทพฯ ก็อาจจะไปต่อไม่ได้เช่นกัน!! …นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาระบุถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างการพัฒนาเมืองกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

และนักวิชาการท่านเดิมก็ยังสะท้อนถึง “ความเปราะบาง” ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ว่า… แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีความพร้อม แต่เมื่อพิจารณาที่เรื่องการศึกษากลับพบว่า… มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน!! โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองเดียวที่สามารถเห็นได้ตั้งแต่โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงมากจนถึงโรงเรียนยากจนที่ขาดแคลนทรัพยากร ซึ่งเป็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจน ยิ่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ปัญหานี้ก็ยิ่งถูกซ้ำเติม จนทำให้กรุงเทพฯ มีเด็กกลุ่มยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 แสนคน

จากข้อมูลของสภาพัฒน์ครอบครัวเด็กยากจนนั้นทั้งประเทศมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ครอบครัวนักเรียนยากจนในกรุงเทพฯ พบว่ามีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น สะท้อนว่าเด็กยากจนกรุงเทพฯ ยากจนกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนเสียอีก” …ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุไว้

จุดนี้ทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ

ต้องออกจากโรงเรียน…เพื่อช่วยครอบครัวหารายได้

อนึ่ง ทางนักวิชาการท่านเดิมยังสะท้อนไว้ต่อไปว่า… คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า…กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความพร้อมทุกด้าน แต่ทว่าผลสำรวจกลับพบว่า…ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 นั้น กรุงเทพฯ ยังมีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์การศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยผลสำรวจจากเด็กยากจนในกรุงเทพฯ จำนวน 1,408 คน พบว่า… มีเด็ก 4% ที่ยังใช้น้ำบาดาล และอีกกว่า 59% ไม่มีโทรทัศน์ดู นอกจากนั้น ในช่วงเรียนออนไลน์ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์นั้นมีเด็กยากจนพิเศษแค่ 7 คนเท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียน และอีกกว่า 1.7% เป็นเด็กยากจนพิเศษที่อยู่ในที่พักอาศัยที่ไม่มีไฟฟ้า

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ รักษาการ ผอ.วสศ. ได้มีการสะท้อนข้อเสนอแนะ “แนวทางแก้ปัญหา” เรื่องนี้ไว้ว่า… การ “อุดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำ” จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ทุกภาคส่วนก็จะต้อง “ไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง” ซึ่งอันที่จริงแล้ว กรุงเทพฯ มีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้สามารถจัดการศึกษาในรูปแบบของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ โดยใช้กฎระเบียบของทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นแค่เพียงไกด์ไลน์เท่านั้น เหมือนกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่ทำได้ เช่น สิงคโปร์ หรือฟินแลนด์ เป็นต้น

การจัดการศึกษานั้น กทม.สามารถทำด้วยตัวเอง ตามที่คนกรุงเทพฯ เห็นสมควรได้เลย โดยใช้กฎระเบียบของกระทรวงเป็นแค่ไกด์ไลน์ ซึ่งน่าจะทำให้ชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานร่วมกันได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้ามีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ก็ยิ่งช่วยลดความซับซ้อนและแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด

พร้อมกันนี้ก็ได้มีการย้ำเรื่องนี้ทิ้งท้ายไว้ในช่วงสุดท้ายของวงเสวนาว่า… อีกสิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องไม่ลืมคือ “เด็กยากจนในชุมชนแออัด” หรือ “กลุ่มเด็กชายขอบ” ที่ถือ เป็นตัวแปรสำคัญของความมั่นคงยั่งยืนของกรุงเทพฯ  ดังนั้นการขับเคลื่อนทางการศึกษานั้นจึงไม่ใช่เพื่อเด็กกลุ่มกระแสหลักเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเด็กที่ตกหล่นจากกระแสหรืออยู่นอกกระแสการพัฒนาเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งองคาพยพของเมืองหลวงไทยสามารถเดินต่อไปด้วยกันได้…ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุไว้

เป็นเสียงที่ส่งถึง ว่าที่พ่อเมืองกรุงเทพฯ คนใหม่”

ที่ ต้องโฟกัส” เช่นเดียวกับนโยบายหาเสียงอื่น ๆ

เรื่องนี้ นี่ก็สำคัญต่อความมั่นคงของกรุงเทพฯ”.