แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลแต่อุบัติเหตุทางถนนก็ยังเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สูญเสียกันไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งเป็นช่วงสงกรานต์จะมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ซึ่ง นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานตัวเลขช่วงสงกรานต์เฉลี่ย 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,248 ราย โดยในปี 2561 เสียชีวิต 418 ราย ปี 2562 เสียชีวิต 386 ราย ปี 2563 เสียชีวิต 167 ราย และในปี 2564 เสียชีวิต 277 ราย สาเหตุหลักการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 48.93% ดื่มสุรา 21.29% ตัดหน้ากระชั้นชิด 16.74%
ทั้งนี้ รูปแบบหรือปัญหาสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จะไม่แตกต่างกันมากนักเพียงแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้พบว่าตัวเลขจำนวนการเดินทางลดลง ประมาณ 10% อันเนื่องมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐกำหนดเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด ผู้คนจำนวนหนึ่งหันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น บางส่วนฝืนขับมอเตอร์ไซค์ในระยะทางไกล ๆ จนกลายเป็นเหตุสูญเสียที่พบว่ามากขึ้นในช่วงนี้
ช่วงแรกก่อนเทศกาลก็มักจะพบว่าความเร่งรีบและการขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะเป็นที่มาของการเกิดอุบัติเหตุอย่างชัดเจน ขับเร็ว/ง่วงวูบหลับใน เป็นตัวเลขที่เห็นได้ชัดช่วงวันที่ 9 -12 เม.ย. ของทุกปี ถึงแม้ว่าช่วงต้นจะประสบปัญหาเรื่องความหนาแน่นในการเดินทาง รถติดทยอยออกจาก กทม. มุ่งหน้าออกต่างจังหวัด พอถึงช่วงเทศกาล 13–15 เม.ย. ก็เป็นช่วงเฉลิมฉลอง เล่นนํ้าสงกรานต์ ซึ่งปี 64 ก็ดูจะเงียบเหงาเพราะยังมีความกังวลกันเรื่องโควิด หลายพื้นที่ประกาศงดเล่นนํ้าอย่างชัดเจน แต่ยังพบการตั้งวงดื่มเหล้าที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากพอดื่มจนได้ที่ก็มักจะออกมาขับขี่มอเตอร์ไซค์ เที่ยวเล่นโดยไม่สนใจมาตรการของรัฐและด้วยความเมาก็มักจะจบลงด้วยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขช่วงดังกล่าวจึงมีปัญหาที่ ’ดื่มแล้วขับ“ เสียเป็นส่วนใหญ่ พอผ่านพ้นมาถึงช่วงท้ายของเทศกาล คนทยอยเดินทางกลับก็มักจะเจอปัญหาความเหนื่อยล้า วูบ หลับใน เสียหลักลงข้างทาง
จึงถือว่าน่าเป็นห่วงสำหรับคนเดินทางไกลทั้งไปและกลับ โดยตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เตรียมเส้นทาง เตรียมตัวเราเองให้พร้อม โดยเฉพาะคนขับ ควรงดดื่มก่อนการเดินทางอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้เต็มที่ ระหว่างการเดินทางไม่ต้องรีบ แวะพักบ่อย ๆ ช่วงนี้อากาศร้อน เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง การดื่มเฉลิมฉลองถ้าหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภท “นํ้าเมา” ได้จะเป็นการดีที่สุด เผื่อเวลาช่วงเดินทางกลับไว้ด้วย เพราะหากผิดพลาด มีความสูญเสียเกิดขึ้น ทุกคนที่อยู่ในรถ ทุกคนที่ร่วมกันเฉลิมฉลอง ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ต้องมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทุกราย โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน ล่าสุดทั้งตำรวจและบุคลากรสาธารณสุข ได้มีการเตรียมการทั้งรูปแบบวิธีการรวมทั้งค่าใช้จ่ายรองรับการตรวจวัดและนำมารายงานในคณะอนุกรรมการฯ ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และมาตรการ “ด่านชุมชน (เชิงรุก)” แทนที่จะตั้งเต็นท์นั่งเฝ้า จะมีการออกลาดตระเวนของบรรดาผู้นำชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัคร ฯลฯ การตั้งวงดื่ม การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จะอยู่ในการควบคุม สอดส่องดูแลก่อนเกิดเหตุ ประกอบกับข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมาได้เน้นยํ้าเป็นกรณีพิเศษทั้งเรื่องการปรับปรุงทางเดินเท้า ทางข้าม และการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ทุกรายให้ได้รับโทษขั้นสูงสุด คาดว่าจะส่งผลทำให้ความสูญเสียในถนนสายรองลดลง ดังนั้นขอยํ้าอีกครั้ง
ก่อนเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ทั้งขาไปและขากลับควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้า รถพร้อม คนพร้อมก่อนเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้มีความสูญเสียที่รุนแรง จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคน “ตั้งสติก่อนสตาร์ต ดื่มไม่ขับ ลดเร็ว ลดเสี่ยง” จะได้ไม่ต้องลำบากหรือเกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน.
คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง