“ยังค่ะ…เรายังต่อจิ๊กซอว์กันได้ไม่ครบ เพราะพอพบคำตอบเรื่องนี้…มันก็จะมีปริศนาต่อไปให้เราต้องหาคำตอบกันต่อ แต่ก็ถือว่าเรามีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก จนพูดว่า…ที่นี่เป็นพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าและสำคัญระดับภูมิภาค ที่นักวิชาการทั่วโลกอยากจะเข้ามาศึกษาค้นคว้า” …หัวหน้าโครงการวิจัย “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า” ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช หรือ “อาจารย์อิ๋ว” บอก “ทีมวิถีชีวิต” หลังเราถามถึง “ภารกิจสำคัญ” ที่อาจารย์และคณะได้ศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่ปี 2556 หลังค้นพบ “ขุมทรัพย์ทางโบราณคดี” อย่าง “ถํ้าโลงลงรัก” ต.ถํ้าลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2553 ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ก็ได้เคย “มุด-ลอด-เลื้อย” กับอาจารย์และคณะมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557 และวันนี้เรามีความคืบหน้าภารกิจ “นักสืบอดีตโบราณ” มาเสนอ…

โถงถ้ำ A1 เมื่อปี 2557-ปัจจุบัน

“ทีมวิถีชีวิต” ได้มีโอกาสกลับไปเยือน “ถํ้าโลงลงรัก” แห่งนี้อีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากปี 2557 เราได้เคยลงไปร่วมสำรวจและร่วมสัมผัสด้วยตาถึง “ร่องรอยทางโบราณคดี” ที่แสดงเรื่องราว “วัฒนธรรมโลงไม้-พิธีปลงศพยุคโบราณ” ของ “มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ผีแมน” กับทางคณะของ ศ.ดร.รัศมี ซึ่งการได้กลับไปเยือนถํ้านี้อีกครั้งในปี 2565 นั้น ค่อนข้างจะพิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะนำทีมโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ คณะผู้บริหาร สกสว. พร้อมกับ “แขกพิเศษ” ที่เป็น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาร่วมเยี่ยมชมถํ้าแห่งนี้ด้วย ท่ามกลางความคาดหวังว่า…. ถํ้านี้จะถูกอัพเกรดเป็น “แหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีที่สำคัญในระดับภูมิภาค”

แต่ก่อนที่จะไปถึง “ถํ้าโลงลงรัก” นั้น ขออนุญาตพาไปรู้จักกับอีกถํ้าสำคัญ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันกับถํ้าโลงลงรัก ที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน นั่นคือ “เพิงผาถํ้าลอด” ซึ่งได้ขุดค้นพบหลักฐานการใช้พื้นที่และอยู่อาศัยของ “คนยุคโบราณ” อย่างน้อย 5 ชั้นวัฒนธรรมใหญ่ นั่นก็คือ ยุคไพลสโตซีนตอนปลาย ยุคโฮโลซีนตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย รวมถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยล้านนา โดยพื้นที่นี้ คณะขุดค้นได้พบกระดูกโบราณ 4 โครง และที่สำคัญที่สุด “โครงกระดูกหมายเลข 2” ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่ เพศหญิง ที่พบชิ้นส่วนกระดูกครบเกือบทุกชิ้น ซึ่ง สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่า 13,640 ปี มาแล้ว ซึ่งได้มีการนำมาทดลอง “ขึ้นรูปหน้า” โดย ดร.ซูซานน์ เฮยส์ จนปรากฏเป็น “โครงหน้ามนุษย์ผู้หญิง” ที่ทำให้แวดวงวิชาการระดับโลกฮือฮามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งภาพของใบหน้ามนุษย์ผู้หญิงโบราณนี้ถูกตั้งชื่อว่า “เลดี้ถํ้าลอด”

อ.รัศมี อธิบายการเคลื่อนย้ายของ “มนุษย์โบราณ”

ขณะที่ “ถํ้าโลงลงรัก” นั้น เป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างจากเพิงผาถํ้าลอดเพียงแค่ 2 กม. โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกภายนอกได้รู้จักถํ้าลึกลับแห่งนี้นั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2553 หลังจากทาง อาจารย์อิ๋ว และคณะ ได้รับรายงานจากชาวบ้านว่า พบถํ้าแห่งใหม่ในพื้นที่ ต.นํ้าลอด ทางอาจารย์อิ๋วและคณะจึงเดินทางเข้าพิสูจน์ ก่อนจะพบว่า ภายในถํ้าเต็มไปด้วยร่องรอยของมนุษย์โบราณ หรือ “ผีแมน” จำนวนมาก อาทิ โลงไม้โบราณมากกว่า 30 โลง กับภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ลูกปัด ไม้ทอผ้า ชิ้นผ้า เครื่องจักสาน จึงได้เริ่มวางแผนและลงมือสำรวจขุดค้นในปี 2556-2559 ซึ่งยิ่งสำรวจ ก็ยิ่งทำให้อาจารย์อิ๋วและทีมงานต้องตกตะลึงในหลักฐานใหม่ ๆ ที่พบ และที่สำคัญ ถือเป็น ครั้งแรกของประเทศไทยที่พบกระดูกคนบรรจุอยู่ในโลงไม้ที่ปิดฝาสนิท แสดงว่าหลักฐานนี้ยังไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ ซึ่งสำคัญกับการ “ถอดปริศนามนุษย์โบราณ” อย่างมาก

อนึ่ง หลังการขุดค้นสำรวจดำเนินการมานับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันคือปี 2565 ทางอาจารย์อิ๋วและคณะก็ได้ค้นพบ
“คำตอบ” จาก “ความลับผีแมน” มากมาย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการนำเสนอไว้บนเวทีเสวนา “แม่ฮ่องสอนโมเดล : ภูมิทัศน์พิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ” ด้วย โดยมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… มนุษย์โบราณกลุ่มนี้น่าจะเป็นเครือญาติกัน, ดีเอ็นเอใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน ที่พูดภาษาในตระกูล ออสโตรเอเชียติก และไท-กะได, แม่ฮ่องสอนยุคโบราณเคยเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายประชากรที่สำคัญ ของมนุษย์โบราณ, แบบแผนการฝังศพและภูมิปัญญามีลักษณะวัฒนธรรมคล้ายคลึงกลุ่มไป่เย่ว เช่นการแกะสลัก ทำเครื่องรัก ทอผ้า จักสาน, ถํ้าโลงลงรักถูกใช้เป็นสุสานครอบครัวมาต่อเนื่องอย่างน้อยกว่า 424 ปี, ผลการวิเคราะห์วงปีไม้พบว่า ปางมะผ้าสมัยวัฒนธรรมโลงไม้อากาศมีความชุ่มชื้นสูง กับมีปริมาณนํ้าฝนมากกว่าในยุคปัจจุบัน, ปางมะผ้าสมัยไพลสโตซีนตอนปลายเคยมีสภาพอากาศหนาวเย็น มีภูมิอากาศไม่คงที่ จนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมนุษย์ และประชากรสัตว์เนื่องจาก พบหลักฐานกระดูกกวางผาหิมาลายัน ที่ปัจจุบันพบในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย นี่เป็น “จิ๊กซอว์” ที่คณะทำงานค้นพบ หลังทำงานหนักมายาวนาน

อ.นาฏสุดา อธิบายถึง “รักบนโลงไม้” / อ.ชัยพร ชี้ให้ดู “ม่านเบคอนของถ้ำ”

ทั้งนี้ กับ “จิ๊กซอว์ที่ค้นพบ” เหล่านี้ ที่ได้ช่วย “คลายปริศนา” ให้กับคนยุคปัจจุบัน หนึ่งใน “คีย์เมสเสจ” ที่สำคัญของการทำให้นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานที่สมบูรณ์ ก็คือ “ความตื่นตัว-ความตระหนัก” ของ “คนแม่ฮ่องสอน” ที่ไม่เพียงมองเห็น “คุณค่า” แต่ยังรู้สึก “หวงแหน” จึงได้ช่วยกันรักษาสภาพของพื้นที่ขุดค้นนี้เอาไว้อย่างดี จนทำให้ “ร่องรอยโบราณยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์” จนทำให้ “นักสืบอดีต” สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานคลี่คลายเงื่อนงำ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ศ.ดร.รัศมี ก็ได้เคยสะท้อนกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้เมื่อครั้งพาคณะลงไปสำรวจ โดยบอกว่า…

“ด้วยความที่ถํ้าโลงลงรักนี้ยังไม่ถูกรบกวนมาก ทำให้หลักฐานที่พบค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ทุกคนตื่นเต้นมาก เพราะปกติแล้วนักวิชาการมักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าไปถึงหลักฐานเหล่านี้” อาจารย์อิ๋ว พูดถึง “ถํ้าสำคัญ” นี้

“บอร์ดเกม” ที่พัฒนาจากงานวิจัยนี้

แม้ภารกิจ “สืบอดีตต่อจิ๊กซอว์มนุษย์โบราณ” นี้ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ระหว่างทางที่เดินตาม “ร่องรอยของอดีต”
ก็สามารถนำอดีตมายึดโยงปัจจุบันได้ โดย ศ.ดร.รัศมี หัวหน้าโครงการฯ ได้พูดถึงเรื่องนี้กับทาง “ทีมวิถีชีวิต” ว่า แม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมเฉพาะที่หลากหลาย และเคยเป็นจุดผ่านสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอดีตเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้วอีกด้วย รวมทั้ง เป็นจุดเริ่มต้นการค้นพบมนุษย์สมัยใหม่ หรือมนุษย์แรกเริ่ม จากหลักฐานของวัฒนธรรมโลงไม้ ด้วยเหตุนี้ ทางคณะทำงานจึงต้องการให้เกิดการใช้งานวิจัยเชิงบูรณาการ เพื่อที่ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เสริมว่า ความพิเศษของพื้นที่นี้สามารถทำให้ “แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของโลก” ได้ เพราะมีองค์ประกอบที่ดีมากมายหลากหลายด้าน โดยถ้าหากสามารถผลักดันโมเดลนี้ได้ ก็จะทำให้เกิดการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ที่เป็นการ “นำอดีตมายึดโยงปัจจุบัน”…

และ… “เพื่อเป็นรากฐานสู่อนาคต”.

‘Big perspective’ กุญแจไขอนาคต

คณะผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ กับป้ายชื่อถ้ำ

การพัฒนาพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยการนำงานวิจัยมารองรับนั้น ทาง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากได้มีการค้นพบ “ถํ้าโลงลงรัก” แห่งนี้ เมื่อปี 2553 ก็ยิ่งตอกยํ้าถึงความพิเศษของพื้นที่นี้ได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหลังจาก ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และคณะ เข้ามาศึกษาขุดค้นอย่างเป็นระบบ ทำให้พบหลักฐานโบราณคดีหลากหลายมากมาย ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็น “แหล่งศึกษาโบราณคดีที่สำคัญระดับโลก” ซึ่งคนแม่ฮ่องสอนสามารถนำความรู้นี้มาใช้ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยอาจเสริมเรื่องของ “Big Perspective” ที่เป็น ระบบความคิด ซึ่งสำคัญมากไม่แพ้เรื่องของ “Big Data” ที่เป็นระบบข้อมูล เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ที่สร้างสรรค์เชิงกลยุทธ์ “ความรู้เหล่านี้จะมีประโยชน์หรือไม่นั้น สิ่งชี้วัดคือคนในพื้นที่จะตอบสนองได้ดีแค่ไหน”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน