จากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) เดือน​ ก.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแผน สั่งซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ อย่างน้อย 8 ลำ ส่วนหนึ่งของการดำเนินการ ตามข้อตกลงด้านความมั่นคงไตรภาคี ออคัส (AUKUS) ออสเตรเลีย-สหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป้าหมายแท้จริงของข้อตกลงคือ ต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของกองทัพจีน ในมหาสมุทรแปซิฟิก

จากการประเมินของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (ASPI) ในกรุงแคนเบอร์รา การจัดซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ 8 ลำ​ ตามแผน จะต้องใช้เงินงบประมาณอย่างต่ำสุด 70,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.7 ล้านล้านบาท) และอาจสูงถึง 171,000 ล้านดอลลาร์ (4.2 ล้านล้านบาท)

ตอนประกาศการก่อตั้ง ออคัส อย่างเป็นทางการ ปักกิ่งแถลงด้วยความฉุนเฉียว บอกข้อตกลงนี้ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง (extremely irresponsible) และจะทำให้การแข่งขันในทางอาวุธ เข้มข้นยิ่งขึ้น

นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย  กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว ร่วมกับนายปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ฐานประจำการเรือดำน้ำในอนาคต บนชายฝั่งตะวันออก จะช่วยยกระดับขีดความสามารถ ด้านการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ในเขตน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เป็นอย่างดี

ออสเตรเลียสร้างฐานทัพเรือดำน้ำ 2 ฟากฝั่ง ตะวันตก-ตะวันออก ของประเทศ ตามนโยบายฐานทัพเรือ 2 มหาสมุทร (two oceans basing policy) ของรัฐบาลพรรคแรงงาน นำโดยอดีตนายกฯ บ๊อบ ฮอว์ค (มี.ค. 2525-ธ.ค. 2534) ที่ผ่านการอนุมัติเบื้องต้นในปี 2530

ฐานกองเรือตะวันตก (Fleet Base West) ตั้งอยู่ที่เกาะการ์เดน นอกชายฝั่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประจำการเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์ ของกองทัพเรือ 6 ลำ ส่วนฐานกองเรือตะวันออก อยู่ที่ฐานทัพเรือคัตตาบัล ในอ่าวซิดเนีย์

มอร์ริสันบอกว่า ฐานกองเรือตะวันตก จะยังคงเป็นฐานหลักประจำการเรือดำน้ำต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย

การหาทำเลที่ตั้ง ฐานใหม่ประจำการเรือดำน้ำนิวเคลียร์ บนแนวชายฝั่งตะวันออก ตอนแรกฝ่ายเสนาธิการกองทัพเรือออสเตรเลีย และผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มชาติพันธมิตร พิจารณาสถานที่ 19 แห่งด้วยกัน สุดท้ายคัดเหลือ 3 แห่ง คือ เมืองบริสเบน เมืองนิวคาสเซิล และเมืองพอร์ตเคมบลา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดจึงไม่เลือกซิดนีย์ เนื่องจากฐานทัพเรือที่นี่มีระบบสาธารณูปโภครองรับพร้อมแล้ว แค่ปรับปรุงสถานที่อีกเล็กน้อยก็ใช้การได้ ไม่ต้องเสียงบประมาณมาก ซึ่งกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (246,193 ล้านบาท) หากต้องก่อสร้างใหม่ทั้งหมด

คำตอบก็คือ ฐานทัพในอ่าวซิดนีย์ อยู่ใกล้ใจกลางเมืองมากเกินไป ซิดนีย์เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุด และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในออสเตรเลีย นี่คือสิ่งบ่งบอกเป็นนัยว่า แม้จะมีการรับประกันความปลอดภัย และเทคโนโลยีขั้นสุดยอดของโลก ของฝูงเรือดำน้ำที่จะซื้อ แต่คำว่า​ “นิวเคลียร์” คือมหันตภัยที่ไม่อาจไว้วางใจได้ 100% เสมอ

ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ว่า ราคาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ 8 ลำที่จะซื้อ แพงกว่าราคาก่อสร้างฐานประจำการหลายเท่า

มอร์ริสัน​ เตรียมนัดหารือ กับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อหาข้อสรุปที่ตั้งฐานเรือดำน้ำนิวเคลียร์แห่งใหม่ ก่อนจะเริ่มงานก่อสร้างขั้นตั้น กำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 จากนั้นก็จะมีการก่อตั้ง หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเรือดำน้ำนิวเคลียร์ (Nuclear Submarine Taskforce).

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES