การทำงานไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ ภาคเอกชน ผู้ทำงานเกือบทั้งหมดก็หวังความก้าวหน้าในอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ จุดประสงค์แทบไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก คือต้องการความมั่นคงในอนาคตของตัวเองและครอบครัว

หลักเกณฑ์ และ เงื่อนไข การคัดเลือกแต่งตั้งผู้ทำงานให้ตำแหน่งสูงขึ้นนั้น บางหน่วยอาจจะเหมือน ใกล้เคียง หรือแตกต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย หากเป็น ระดับต้น-กลาง อาจจะเพียงแค่เป็นการประเมินผลงาน ความรู้ความสามารถ ทักษะ คุณลักษณะของบุคคล ความประพฤติ ประวัติการทำงาน หากระดับขยับขึ้นมา ก็อาจต้องเพิ่มเกณฑ์เงื่อนไขขึ้นบ้าง เช่น ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ทางวิชาชีพ ตามที่กำหนด

ถ้าระดับสูงขึ้นมาอีก ย่อมมีความสำคัญกับองค์กร ถือเป็น กลุ่มบริหารงาน หลายหน่วยงานส่วนใหญ่จะเพิ่มเงื่อนไข การสอบวัดความรู้ เข้าไปด้วย เพื่อจะได้ผู้มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่ายในการคัดเลือกแข่งขันกันแบบโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม !!

ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ก็ดำเนินการสรรหาสายงาน ผู้บริหารขององค์กร ระดับต้น กลาง สูง โดย การจัดสอบข้อเขียน วันที่ 30 ต.ค. 2564 เป็นภาคปรนัย 70 คะแนน อัตนัย 30 คะแนน โดยมีข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เข้าสอบรวม 19,636 คน แยกเป็นระดับต้น 10,742 คน, ระดับกลาง/สูง 8,894 คน แยกสอบรายภาคเหนือ (จ.ลำปาง), อีสาน (จ.ขอนแก่น), กลาง (จ.ปทุมธานี), ตะวันออก (จ.จันทบุรี) และใต้ (จ.พัทลุง) ประกาศผลสอบ 25 พ.ย. 2564 ระดับต้นมีผู้ผ่านเกณฑ์ 60 คะแนน 1,789 คน, ระดับกลาง/สูง ผ่าน 8,751 คน

หลังประกาศผลทางเว็บไซต์ มีบรรดาข้าราชการจำนวนมาก ที่มั่นใจว่าทำข้อสอบได้เกิน 60 คะแนน แต่ไม่มีรายชื่อ ได้ติดต่อไปยื่นหนังสือขอดูคะแนนสอบของตนเองกับ หน่วยงานที่จัดสอบ นอกจากนี้ ยังรวมตัวตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนพบความผิดปกติ โดยเฉพาะข้อมูลผู้ที่สอบผ่านข้อเขียน ส่วนใหญ่ทำข้อสอบชุด A (69-93%) มากกว่าผู้ทำข้อสอบ ชุด B, ชุด C ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

กลุ่มข้าราชการผู้เข้าสอบ เมื่อเกิดความสงสัย นอกจากจะพยายามรวมตัวไป ยื่นอุทธรณ์ผลสอบ ของแต่ละคน ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว ยังตัดสินใจไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้ช่วยคุ้มครองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2564  แต่กรมฯยังคงเดินหน้าสอบสัมภาษณ์ผู้ผ่านข้อเขียน ทำให้ทั้งหมดตัดสินใจไป ยื่นเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมผู้ร้อง เข้ามาชี้แจงให้ข้อมูลถึงความผิดปกติของคะแนน พร้อมยังเรียก ข้อสอบ กระดาษคำตอบ และ การให้คะแนน มาแสดงในที่ประชุม

กระทั่งต้นเดือน มี.ค. 2565 ทางคณะ กมธ. ได้ให้ข้อมูลกับข้าราชการที่มาร้องว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบลักษณะผิดปกติมากถึง 7 ข้อ พร้อมให้นำหลักฐานเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่มีไปแจ้งความ และไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ตอนนี้มีการทยอยไปยื่นร้อง ที่ศาลปกครองทั่วประเทศ 15 แห่ง รวม 453 คดี อีกทั้งยังส่งตัวแทนข้าราชการผู้เข้าสอบ ได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พร้อมชะลอการสรรหาออกไปก่อน จนกว่ากระบวนการทางศาลปกครองจะสิ้นสุด

ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยที่ข้าราชการจำนวนมากทั่วประเทศ ตัดสินใจรวมตัวเดินหน้าดับเครื่องชนสู้ขอความเป็นธรรม บทสรุปจะเป็นเช่นไรนั้น ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตา!!.

——————–
เชิงผา