จากรายงานของสื่อหลายสำนัก รวมถึงรอยเตอร์ นักรบอาสานานาชาติ ที่ไปช่วยกองทัพยูเครน รวมถึงพลเมืองของแคนาดา จอร์เจีย อินเดีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เมื่อตรวจสอบดูกฎหมายของแต่ละประเทศพบว่า

ข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า กฎหมายไม่ห้ามพลเมืองอเมริกัน เข้าเป็นทหารในกองทัพของประเทศใดประเทศหนึ่ง การเป็นทหารประจำการ หรือสู้รบกับประเทศที่มีสันติภาพกับสหรัฐ อาจใช้เป็นมูลเหตุสละสัญชาติโดยสมัครใจ แต่คำวินิจฉัยบรรทัดฐานของศาลฎีกาสหรัฐ การเข้าเป็นทหารในกองทัพต่างชาติ เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เพิกถอนสัญชาติสหรัฐได้

กฎหมายอีกฉบับของสหรัฐ รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง (Neutrality Act) บังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1794 (พ.ศ. 2337) กำหนดห้ามพลเมืองสหรัฐ ทำสงครามสู้รบกับรัฐบาลต่างชาติ ที่มีสันติภาพกับรัฐบาลสหรัฐ โดยกำหนดหนดโทษจำคุกผู้ฝ่าฝืนไว้ สูงสุดไม่เกิน 3 ปี กฎหมายฉบับนี้ซึ่งอาจจะถูกนำมาบังคับใช้ทางเทคนิค กับอาสาสมัครรบต่อต้านรัสเซีย  เคยถูกใช้ดำเนินคดีกับชาวอเมริกัน ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับความพยายามก่อรัฐประหาร ในประเทศแกมเบียเมื่อปี 2557 แต่นอกจากนี้ก็ไม่เคยถูกใช้ ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

เดวิด มาเลต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ กล่าวว่า นอกจากความผิดฐานก่อการร้ายในประเทศแล้ว เขาเชื่อว่าชาวอเมริกันยากที่จะถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายความเป็นกลาง จากการไปอาสาช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย

ส่วนกฎหมายของสหราชอาณาจักรระบุว่า ชาวอังกฤษที่ไปช่วยยูเครนรบ อาจจะถูกดำเนินคดีตอนกลับประเทศ จากประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทาง ของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร โดยกฎหมาย พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารต่างชาติ (Foreign Enlistment Act) ปี 2413 กำหนดห้ามพลเมืองอังกฤษ เข้าร่วมกองทัพต่างชาติ สู้รบกับประเทศที่มีสันติภาพกับยูเค

แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่เคยถูกใช้ ในกรณีพิพาทยุคใหม่ ตอนแรกรัฐมนตรีต่างประเทศยูเคกล่าวสนับสนุน ชาวอังกฤษอาสาสู้รบช่วยยูเครน แต่ต่อมาได้ประกาศเตือนการเดินทางไปที่นั่น

ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ประกาศเตือนพลเมือง อย่าไปร่วมรบในยูเครน โดยมอร์ริสันเผยต่อสื่อมวลชนในประเทศ เมื่อเดือนที่แล้วว่า ยังมีความ “ไม่แน่นอน” เกี่ยวกับสถานะทางกฎหมาย ของนักรบพลเรือนต่างชาติ

ส่วนอินเดีย กระทรวงมหาดไทยไม่ตอบคำถาม เกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับพลเมืองอินเดียที่ไปอาสาสู้รบในยูเครน แต่เคยมีคดีชาวอินเดียเดินทางไปรบในอิรัก ในปี 2558 ซึ่งตอนนั้นกระทรวงมหาดไทยแถลงต่อศาลสูงกรุงนิวเดลีว่า การอนุญาตให้ชาวอินเดีย เข้าร่วมในความขัดแย้งของประเทศอื่นๆ อาจทำให้รัฐบาลอินเดียถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนการก่อการร้ายในประเทศอื่น

เยอรมนี รัฐบาลในกรุงเบอร์ลินบอกว่า จะไม่ดำเนินคดีเอาผิด กับชาวเยอรมันที่ไปช่วยยูเครนรบ เช่นเดียวกับผู้นำเดนมาร์ก และผู้นำลัตเวีย ที่บอกว่า ไม่ห้ามพลเมืองอาสาไปรบ ส่วนนางอนิตา อนันด์  รัฐมนตรีกลาโหมแคนาดา กล่าวว่า อาสาสมัครชาวแคนาดาเป็น “การตัดสินใจส่วนบุคคล”

อีกประเด็นที่น่าสงสัยคือ จะเกิดอะไรขึ้น หากนักรบต่างชาติเหล่านี้ ถูกทหารรัสเซียจับกุมเป็นเชลยในยูเครน กรณีนี้กฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดให้กองทัพรัสเซีย ปฏิบัติต่อนักรบอาสาเหล่านี้ ในฐานะ “เชลยศึก” โดยไม่เลือกว่าจะไปจากประเทศใด ซึ่งนั่นหมายความว่า ทหารรัสเซียจะต้องให้อาหาร น้ำ และรักษาพยาบาล ตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์นั้น ๆ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS