เพราะหากเป็นไปตาม ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ที่พยายาม “ปิดโอกาส” ออกมากระทำผิดซ้ำๆ ด้วยมาตรการควบคุม เฝ้าระวัง ไปจนถึงติดตามแบบเจาะจง ก็คาดหวังได้ว่าสังคมอาจปลอดภัยจาก “อาชญากรทางเพศหน้าเดิม”
โดยเฉพาะสาระสำคัญที่ถูกจับตา เพราะเป็นมิติใหม่กับการใช้ “มาตรการทางการแพทย์” เป็นตัวช่วยแก้ไขพฤติกรรม โดยการให้ยาลดฮอร์โมนความต้องการทางเพศ หรือที่เรียกง่ายๆ จากวิธีปฏิบัติว่า “ฉีดไข่ให้ฝ่อ” ซึ่งหลายประเทศก็ใช้มาตรการดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย การใช้มาตรการทางแพทย์ถูกกำหนดไว้ใน หมวด 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด
มาตรา 19 ระบุให้คดีที่มีการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูในระหว่างที่รับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ โดยจะขอรวมกันไปในการฟ้องคดีดังกล่าวหรือก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ได้
โดยมาตรการแก้ไขฟื้นฟู ได้แก่ (1) มาตรการทางการแพทย์ (2) มาตรการอื่นใดตามกฎกระทรวง
ทั้งนี้ การมีคำสั่งให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์ความรุนแรงของคดี สาเหตุของการกระทำผิด ประวัติการกระทำผิด ภาวะจิต นิสัย ลักษณะส่วนตัวอื่นๆ ของผู้กระทำผิด ตลอดจนความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟู
ซึ่งการไต่สวนศาลอาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาประกอบการพิจารณา รับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด หรือมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจเพิ่มได้ โดยให้ศาลระบุเหตุผลในการออกคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูไว้ในคำพิพากษาและให้ระบุคำสั่งไว้ในหมายจำคุกด้วย
มาตรา 21 มาตรการทางการแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งตาม มาตรา19(1) ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ซึ่งมี “ความเห็นพ้อง” ต้องกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้ยา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำผิด “ยินยอม”
ให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์มาใช้ในการพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ประโยชน์อื่นใดอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ด้วย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้มาตรการทางการแพทย์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
เนื่องจากเป็นมาตรการทางเลือกแนวทางใหม่ เป็นธรรมดาที่จะเกิดข้อถกเถียง สงสัย โดยเฉพาะเป็นการละเมิดสิทธิ โหดร้าย ทารุณหรือไม่
ประเด็นนี้แม้ยังไม่มีตัวอย่างในประเทศไทย แต่มีแนวปฏิบัติในต่างประเทศมานาน เช่น ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ระบุไว้ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ประเทศไทยกำหนดชัดเจนและค่อนข้างรัดกุมถึงการใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูในทางการแพทย์ที่ต้องเป็น “ความยินยอม” ของผู้กระทำผิด ต้องผ่านความเห็นพ้องโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ที่สำคัญไม่ได้ใช้ทุกคดีทางเพศ แต่ใช้ในกลุ่มเสี่ยงจะกระทำผิดอีกซ้ำๆ ซากๆ อีก
มุมหนึ่งเป็นคุณกับผู้กระทำผิดเพราะสามารถนำไปพิจารณาประกอบโทษที่จะได้รับ อีกมุมช่วยสังคมลดความเสี่ยงผู้พ้นโทษออกมากระทำผิดซ้ำ เช่นที่เคยปรากฏมาก่อน
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างขั้นตอนวุฒิสภา หากผ่านการพิจารณาออกเป็นกฎหมาย จะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน