ทีมข่าว Dailynews Exclusive ยังคงเกาะติดเรื่องราวการทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมจากประเทศไทย ถูกนำไปตั้งโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ล่าสุดที่พบเป็น โบราณวัตถุกลุ่มประติมากรรมสำริด และชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม รวมกว่า 32 รายการ จากปราสาทเขาปลายบัด อ.ประโคนชัย-อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

นอกจากจะมีหน่วยงานภาครัฐทั้ง 2 ประเทศ เร่งเจรจาประสานงานกันแล้ว ยังมีทั้ง นักวิชาการอิสระ และประชาชนที่ให้ความสนใจตามติดความคืบหน้าเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากยังเป็นห่วงว่า ถ้าทอดระยะเวลาเนิ่นนานออกไป อาจจะทำให้วัตถุโบราณล้ำค่าหลุดมือไปได้

วอนภาครัฐเร่งประสานสหรัฐเกาะติดทวงคืน

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าว Dailynews Exclusive ถึงความเคลื่อนไหวในการทวงคืนมรดกวัฒนธรรมของไทยจากต่างชาติว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ทำการศึกษาในพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ต้องใช้เวลากว่า 6 ปี ก่อนยื่นเอกสารให้ กรมศิลปากร และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการในการติดตามโบราณวัตถุจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทำให้กระบวนการทวงคืนล่าช้า เนื่องจากฝั่งไทยยังไม่เข้าใจกระบวนการทวงคืนโบราณวัตถุจากหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

นงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์

“ตอนนี้การทวงคืนโบราณวัตถุ ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนตอนทวงคืน ทับหลังปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งยุคนั้นต้องมีการเสนอทั้งเงินและผลประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนกว่าจะได้คืน แต่ยุคนี้ทางสหรัฐอเมริกา พร้อมจะปราบปรามกลุ่มทุจริตที่ใช้โบราณวัตถุเป็นแหล่งฟอกเงิน เพื่อเลี่ยงภาษี ดังนั้นไทยควรเร่งมือในการทวงคืน ก่อนที่นโยบายสหรัฐอเมริกาจะมีการเปลี่ยนแปลง”

โดยข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินคดีทวงคืนให้แจ้งว่า พิพิธภัณฑ์ในชิคาโก เตรียมเจรจากับทางการไทย เพื่อส่งคืนโบราณวัตถุ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยื่นเรื่องขอเจรจามาตั้งแต่กลางปี 2564 โดยหน่วยงานกฎหมายที่ดูแลได้แจ้งความประสงค์ขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่ทางพิพิธภัณฑ์จะกลับมาสู้คดี แต่ตอนนี้ทางการไทย ยังไม่ได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมไป แม้คณะทำงานจะส่งเอกสารไปยังกระทรวงฯ แล้ว จึงอาจจะทำให้การทวงคืนล่าช้าออกไปอีก ที่ผ่านมาได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็เริ่มบ่นว่า ข้อมูลที่ขอไปมีความล่าช้า ขณะเดียวกันทีมกฎหมายเองก็ถูกกดดันจากผู้มีอิทธิพลภายในเมือง เลยทำให้เขาไม่มีความสุขที่จะอยู่ในเมืองนี้ต่อ เลยอยากเร่งให้ภาครัฐไทยส่งข้อมูลเพิ่มมาเร็วๆ เพื่อจะได้เร่งทำให้จบคดี เนื่องจากโบราณวัตถุส่วนใหญ่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของมหาเศรษฐี ซึ่งมีอิทธิพล

โบราณวัตถุไทยมูลค่าสูงชิ้นละ 100 ล้านบาท

นักวิชาการอิสระ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ทีมทำงานด้านกฎหมาย ได้แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาบางอย่างก็ไม่แน่นอน ดังนั้นทางการไทยควรเร่งทำเอกสารส่งมาให้เร็วที่สุดในช่วงนี้ เพราะสหรัฐอเมริกามีนโยบายกวาดล้างการนำโบราณวัตถุมาเป็นแหล่งฟอกเงิน

สำหรับโบราณวัตถุ กลุ่มปราสาทเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ในตลาดมืด มีมูลค่าการซื้อขายราคาสูงถึงชิ้นละ 100 ล้านบาท ซึ่งความยากของการหาหลักฐานทางโบราณคดีของกลุ่มปลายบัด คือการหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นของที่อยู่ในปราสาทจริงๆ เนื่องจากในอดีตอาจมีการทุจริตร่วมกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และชาวบ้านเองก็ลักลอบในการนำโบราณวัตถุมาขายต่อ ทำให้หลักฐานภาพถ่ายและการจดบันทึกมีน้อยมาก จนมีเรื่องราวการแย่งชิงโบราณวัตถุ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในเหตุกันนั้นด้วย

โบราณวัตถุชุดนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย ที่จะเป็นข้อบ่งชี้สำคัญถึงการตั้งถิ่นฐานโบราณในพื้นที่ราบสูงโคราช ก่อนจะแผ่ขยายอิทธิพลอันรุ่งเรื่องไปยังอาณาจักรเขมรที่นครวัด เพราะที่ผ่านมามีการขุดค้นพบ ปะติมากรรมสำริด ในพื้นที่เมืองเก่าของกัมพูชา ได้จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับการค้นพบในพื้นที่โคราช ที่เจอปะติมากรรมสำริดขนาดใหญ่สูงถึง 3 เมตร ที่ ต.โตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โดยหลักฐานนี้เชื่อมโยงกับการตั้งปราสาทหินพิมาย

ยกย่องเป็น “ศิลปะทวารวดี-อีสาน”

กลุ่มประติมากรรมสำริดชุดนี้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่า อดีตพื้นที่ราบสูงโคราช เป็นอาณาจักรที่สำคัญในการนับถือพุทธศาสนา เพราะเทคนิคการหล่อพระพุทธรูปสำริด ที่กำลังทวงคืนจากสหรัฐอเมริกา กับโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่เจอในพื้นที่ราบสูงโคราช ใช้เทคนิคการหล่อสำริดเหมือนกัน ซึ่งในกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.1300 ก็ยังไม่พบปะติมากรรมสำริดขนาดใหญ่เท่านี้ ทำให้นักวิชาการโบราณคดีมองว่า พระโพธิสัตว์สำริด ปราสาทปลายบัด 2 เป็น “ศิลปะทวารวดี-อีสาน” จึงได้ตั้งชื่อนี้ขึ้น เพื่ออธิบายรูปแบบศิลปะในอดีตที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินอีสาน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 ซึ่งคงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาจากฝั่งภาคกลางของไทยด้วย ไม่ใช่ศิลปะขอม หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย มีรูปแบบศิลปะที่แตกต่างกันชัดเจน (สมัยฝั่งเขมรรุ่งเรืองนับถือฮินดู เป็นหลัก ก่อนที่จะโรยราไป)

ขณะที่ทางภาคอีสานยุครุ่งเรือง บริเวณที่แอ่งโคราช นับถือพุทธ เป็นหลัก ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 นี้ มีเมืองโบราณขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งเมืองเสมา จ.นครราชสีมา, ฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์, นาดูน จ.มหาสารคาม และบ้านเปือย จ.อำนาจเจริญ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ทวารวดี” ปรากฏที่อีสานเพียงแห่งเดียว คือที่ฐานพระพุทธรูปที่พบที่วัดจันทึก จ.นครราชสีมา แต่ก็ยังเป็นปริศนาว่ามาอยู่บริเวณนี้ได้อย่างไร เพราะไม่พบว่าเคยมีโบราณสถานบริเวณวัด

ดังนั้น การพยายามทวงคืนโบราณวัตถุล้ำค่า กลุ่มประติมากรรมสำริด, ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม รวมกว่า 32 รายการ จากปราสาทเขาปลายบัด อ.ประโคนชัย และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่คาดหมายว่าหากเป็นไปตามแผน อาจจะได้กลับคืนสู่มาตุภูมิภายในปี 2565 ถือเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่จำเป็นจะต้องเดินหน้าเกาะติดความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เงียบหายไปง่ายๆ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน

อ่านเพิ่มเติม เกาะติดทวงคืนโบราณวัตถุ (1)