8 ใน 10 ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน สนับสนุนมติให้ “ตำหนิ” รัสเซียรุกรานยูเครน และเรียกร้องสันติภาพ โดยเวียดนาม และ สปป.ลาว 2 ประเทศหุ้นส่วนยาวนานของรัสเซีย งดออกเสียง ร่วมกับอีก 33 ประเทศ ซึ่งรวมถึง จีน อินเดีย และปากีสถาน

จากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวดอยช์ เวเลย์ แห่งเยอรมนี นอกเหนือจากการโหวตทางการทูตแล้ว ท่าทีตอบสนองของแต่ละเทศกลุ่มอาเซียนยังแตกต่างกันไป สิงคโปร์ตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งแทบไม่เคยเห็น ขณะที่อินโดนีเซีย รีบวิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ฟิลิปปินส์เปลี่ยนท่าทีไปมา และประกาศว่าตนเองเป็นกลาง ส่วนไทยและมาเลเซีย ยังคงเงียบ

หลายประเทศในอาเซียนเรียกร้องสันติภาพ และพยายามไม่เลือกข้าง ในความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน รัสเซียเป็นหุ้นส่วนการค้า ขนาดใหญ่สุดอันดับ 9 ของกลุ่มอาเซียน นี่อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่บางประเทศในกลุ่มเลือกที่จะไม่วิจารณ์มอสโก และที่สำคัญกว่าคือ รัสเซียเป็นประเทศที่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อาเซียนมากที่สุด จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม

กว่า 80% ของอาวุธในกองทัพเวียดนาม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มาจากรัสเซีย นับตั้งแต่ปี 2543 รัสเซียยังขายอาวุธหลายประเภท ให้อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ ให้รัฐบาลทหารเมียนมา ที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 และในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว อินโดนีเซียเป็นเจ้าบ้าน จัดการฝึกซ้อมร่วมทางทะเล รัสเซีย-อาเซียน เป็นครั้งแรก

แต่ ซาคารี อาบูซา อาจารย์วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรื่องซื้อขายอาวุธไม่น่าจะใช่เหตุผล เนื่องจากอาวุธที่รัสเซียขายให้กลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ขายให้เวียดนามและเมียนมา ที่ขายให้ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ขยายตัวตามที่มอสโกคาดหวัง ส่วนมากตกลงซื้อขายครั้งเดียวเลิก

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า หลายประเทศอาเซียนไม่ต้องการสร้างความขุ่นเคืองให้จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับรัสเซีย แม้ว่าจะมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดนกับปักกิ่ง ในทะเลจีนใต้ แต่ ชาดา อิสลาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเอเชีย ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม กล่าวว่า เรื่องนี้จีนไม่น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเท่าใดนัก ท่าทีของหลายประเทศอาเซียน น่าจะมาจากนโยบายหลักของกลุ่มที่ยึดถือมานาน นั่นคือไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แถมกรณีพิพาท รัสเซีย-ยูเครน ยังอยู่ห่างไกลถึงยุโรปตะวันออก

อิสลาม กล่าวว่า สหรัฐและกลุ่มประเทศพันธมิตรในยุโรป รู้สึกผิดหวังและค่อนข้างสับสน กับท่าทีของหลายประเทศอาเซียน และพยายามจะโน้มน้าวให้เข้าข้าง ร่วมกันต่อต้านรัสเซีย

โจเอล อึ้ง ผู้ช่วยวิจัย วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส.ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “น่าผิดหวัง” ที่กลุ่มชาติอาเซียนไม่ปกป้องหลักการ “ไม่แทรกแซง” อย่างจริงจังมากกว่านี้ ในวิกฤติยูเครน หลายชาติอาเซียนไปไกลมาก แต่เขาคิดว่าคงไม่มีประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม เข้าร่วมสิงคโปร์ ประกาศมาตรการฝ่ายเดียวต่อรัสเซีย

ผลสำรวจสภาวะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  State of Southeast Asia ครั้งล่าสุด เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว โดยสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค ในสิงคโปร์ พบว่า ส่วนใหญ่ใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ต้องการถูกดึงเข้าสู่วงจรความขัดแย้ง ระหว่างประเทศมหาอำนาจโลก โดยเฉพาะสหรัฐกับจีน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS