“โซลูชันนี้ถูกพัฒนาเพื่อให้เป็นการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึง และเกาะติดการรักษาในหมู่ผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดระยะเวลาการส่งต่อของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น” …เป็นความน่าสนใจของ “โซลูชันการแพทย์” ที่ตัวแทนจากผู้พัฒนาระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์จากต่างประเทศได้อธิบายไว้บนเวทีเสวนาหัวข้อ “การเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์”

“ดิจิทัลเฮลท์แคร์” ระบบนี้กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก

กำลังได้รับความสนใจอย่างมากเพราะ “ตอบโจทย์”

ตอบโจทย์ “ทั้งสำหรับบุคลากรแพทย์ และผู้ป่วย”…

ในส่วนของแวดวงแพทย์ไทย ก็ให้ความสนใจ “โซลูชันดิจิทัลเฮลท์แคร์” เช่นกัน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเสวนาภายใต้ชื่องาน Optimizing the Patient Journey Through Digital Healthcare Solutions โดยมี Roshel Jayasundera กับ Raphael Itah ผู้บริหาร Axios International และ รศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเสวนาเกี่ยวกับ บทบาทในปัจจุบันของโซลูชันดิจิทัลด้านการดูแลสุขภาพในไทย โดยมี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้บริหาร Genepeutic Bio เป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมมีการเปิดตัวความร่วมมือระหว่างกันในด้านนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีการแจกแจงไว้ สำหรับผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจากต่างประเทศรายนี้ เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2540 โดยเป็นผู้บุกเบิกโปรแกรมการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) ครั้งแรกในประเทศแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นผู้พัฒนาการให้บริการระบบเฮลท์แคร์ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลผ่านโซลูชันดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคต่าง ๆ โดยในส่วนของประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือกันในเรื่องนี้ 

และเกี่ยวกับรายละเอียดของความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง Roshel ได้ให้ข้อมูลไว้ โดยย้อนไปตั้งแต่ในส่วนของที่มาในการพัฒนาโซลูชันดังกล่าว โดยระบุว่า… เกิดจากเป้าหมายที่ต้องการช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ซึ่งทีมผู้พัฒนาได้แก้ปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้นโดยเริ่มจากการพัฒนาให้เป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ง่าย และสามารถปรับแต่งได้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ครอบคลุมในหลาย ๆ มิติ โดยระบบดังกล่าวจะไม่ใช้แนวคิด one-size-fits-all ที่เป็นการเหมารวมผู้ป่วยในทุกสถานการณ์ แต่จะ จำแนกกลุ่มอาการกับความต้องการให้ชัดเจน ที่สุด…

เพื่อให้ตอบโจทย์อาการ-ความต้องการของผู้ป่วย

ทางด้าน Raphael หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลขององค์กรดังกล่าว ก็ได้ระบุเสริมเกี่ยวกับโซลูชันนี้ไว้ว่า… ระบบ “ดิจิทัลเฮลท์แคร์” ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้ เกิดจากความเชื่อที่ว่า… โซลูชันดิจิทัล” จะเป็น ตัวเปิดทางการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย” ในปัจจุบันและในอนาคต โดยโซลูชันเฮลท์แคร์ยุคใหม่นั้นไม่ควรจะเป็นแบบสแตนด์อโลน แต่ควรจะเป็นระบบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ สามารถจะใช้งานร่วมกับโซลูชันอื่น ๆ ได้ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการทางด้านการรักษาที่ดี…

เพื่อให้ได้รับบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพที่สุด

สำหรับ “ระบบดิจิทัลเฮลท์” ที่จะมีการนำมาให้บริการผู้ป่วยในไทย โซลูชันชื่อ “Axios+” นั้น จะประกอบด้วย 3 แอพพลิเคชั่นสำหรับติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ ได้แก่… MyHealth ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการการรักษาสำหรับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยรู้ภาพรวมการรักษาที่กำลังจะเกิดขึ้น, MyPatients ที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการส่งต่อผู้ป่วย โดยแพทย์เจ้าของไข้จะมองเห็นภาพการรักษาของผู้ป่วยตลอดเส้นทางระหว่างที่ส่งตัว และ MyPharmacy ที่ช่วยให้ดำเนินการจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนได้อย่างราบรื่น เพื่อลดภาระงานให้เภสัชกร …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปของโซลูชันที่ไทยมีความร่วมมือ…

เพื่อที่จะ “ลดช่องว่างการเข้าถึงการรักษา” ให้ผู้ป่วย

รวมไปถึง “ช่วยลดภาระงาน” ให้บุคลากรการแพทย์…

ทั้งนี้ รศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สะท้อนถึง “บทบาทของดิจิทัลโซลูชันทางด้านสุขภาพ” ไว้ว่า… การระบาดใหญ่ของ “โควิด-19” ทำให้โลกวันนี้ต้องเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับโซลูชันดิจิทัล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก เมื่อถูกใช้ในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อได้เปรียบที่สำคัญคือ…โซลูชันเหล่านี้ ช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เช่น ผู้ป่วยจะยังคงรู้สึกมั่นใจว่าแพทย์ยังคงตระหนักถึงอาการป่วยของคนไข้ และไม่ต้องนัดหมายทางกายภาพโดยไม่จำเป็น ด้วย

“โควิด-19 ทำให้โลกวันนี้ไปสู่ระบบดูแลสุขภาพแบบไฮบริด มากขึ้น โดยภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย มีแนวโน้มของผู้ป่วยที่สมัครเข้ารับบริการการพบแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด สะท้อนว่าระบบนี้กำลังก้าวสู่การเป็นยุคดิจิทัลเฮลท์เต็มรูปแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ” …รศ.นพ.จุลจักร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้ไว้ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนต่อให้พิจารณากัน… 

“ไทย” ก็ถูก โควิดผลักดันสู่ระบบสุขภาพไฮบริด”

“ดิจิทัลเฮลท์” นับวัน คนไทยก็จะต้องสนใจไว้”

เพราะ เรื่องนี้ก็ใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ”.