“เราไม่อยากเห็นเด็ก ๆ ต้องมาเสียสิทธิทางการศึกษา เพียงเพราะติดโควิดจนไม่สามารถเดินทางไปสอบได้” …เป็นการระบุของ อนุกูล ทรายเพชร ผู้อำนวยการ มูลนิธิเส้นด้าย ที่สะท้อนผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เกี่ยวกับกรณีที่มีเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ “ติดเชื้อโควิด-19” แล้วไม่สามารถไปสอบยังสนามสอบได้…เนื่องจาก “ไม่สามารถหาพาหนะรับส่ง” ได้ ซึ่ง หากต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ…ก็จะมีความเสี่ยงต่อผู้อื่น!! โดยกรณีนี้ไม่เพียงฉายภาพสิ่งที่ต้องมี “การจัดการ-การรองรับที่ดี” เฉพาะกับเด็กที่ต้องสอบเรียนต่อ-เด็กวัยเรียน แต่ยัง “สะท้อนภาพรวม” ด้วย

ไทยเดินหน้าจะให้ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น”…

“การจัดการ-ระบบรองรับ” เป็น “โจทย์สำคัญ!!”

ทั้งนี้ ในส่วนของเด็กวัยเรียน-เด็กที่ต้องไปสอบเพื่อเรียนต่อ แต่ติดโควิด-19 แล้วไม่สามารถหา “พาหนะที่เหมาะสม” เดินทางไปยังสนามสอบได้…แม้จะมีการจัดสถานที่ให้สอบนั้น ทาง อนุกูล สะท้อนมาว่า… จากกรณีปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในช่วงการสอบเก็บคะแนนของเด็กวัยเรียนเพื่อจะเข้าเรียนต่อ นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง สถานการณ์สำคัญที่จำเป็นต้องช่วยเหลือ เพื่อที่จะไม่ให้เด็ก ๆ เหล่านี้ต้อง “ตกหล่น” จากระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถเดินทางไปสนามสอบเพื่อทำการสอบได้

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง มูลนิธิเส้นด้าย กับ ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี จึงร่วมกันจัดตั้ง “ปฏิบัติการอาสารับส่งนักเรียนที่ติดโควิด” ที่ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบทีแคส (TCAS) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อรับส่งนักเรียนกลุ่มนี้ให้เดินทางไปยังสนามสอบได้ โดยสามารถรับส่งนักเรียนจำนวน 16 คน จาก 58 คน ที่แจ้งความต้องการเข้ามา

ขณะที่ข้อมูลการรับแจ้งของทางศูนย์นเรนทร พบว่า… ในช่วงที่เปิดดำเนินการกรณีนี้ มีนักเรียนจาก 12 พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ คือ ทุ่งครุ บางแค ราชเทวี ดินแดง บางกะปิ ป้อมปราบศัตรูพ่าย วังทองหลาง สัมพันธวงศ์ ประเวศ คันนายาว คลองสามวา จอมทอง ได้แจ้งความประสงค์เข้ามากับทางศูนย์ฯ เพื่อต้องการให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการรับส่งไปสนามสอบ

โดยรับส่งจากศูนย์พักคอย ฮอสพิเทล และบ้านพัก

กับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง ผอ.มูลนิธิเส้นด้าย สะท้อนมาอีกว่า… การสอบ TCAS ในปี 2565 ครั้งนี้ มีความท้าทายและมีข้อจำกัดหลายประการ ที่ภาครัฐน่าจะนำมา “ถอดบทเรียน” เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง” จนทำให้เกิดปัญหา” อีก ยกตัวอย่างเช่น… ควรมีการจัดจุดสอบเป็นการเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด หรือไม่ก็ ควรที่จะมีการวางแผนเกี่ยวกับ “รูปแบบการจัดการเดินทาง” ให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด เพราะหากเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ นอกจากจะไม่สะดวก ที่สำคัญยัง อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด ด้วย

“สำหรับทางเส้นด้ายนั้น ด้วยความที่เราเชี่ยวชาญด้านการรับส่งผู้ป่วยโควิด จึงอาสาเข้าร่วมภารกิจนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้นักเรียนที่มีสิทธิสอบในปีนี้เพื่อ ให้มั่นใจว่าแม้ติดโควิด ก็มีระบบรองรับช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้ต้องเคว้งคว้างท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเด็ก ๆ และผู้ปกครอง” …นี่ก็เป็นอีก “หลักใหญ่ใจความสำคัญ” ที่ระบุโดย อนุกูล

และทาง ผอ.มูลนิธิเส้นด้าย ยังได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… สิ่งที่อยากสื่อสารด้วยก็คือ…ภายใต้ สถานการณ์สังคมที่ “มีความเหลื่อมล้ำ” สูงมาก ๆ แบบนี้ ทางมูลนิธิฯ ไม่อยากเห็นเด็ก ๆ ต้องมาเสียสิทธิทางการศึกษา เพียงเพราะปัญหาจากการเดินทาง ซึ่งกรณีการจัดสอบ TCAS ในปี 2565 นี้ ในมุมมองของมูลนิธิฯ มองว่า…ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปรับตัวของสังคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มองเห็นความสำคัญของการจัดการสอบในสถานการณ์โควิด แต่ทั้งนี้ก็ควร “ยกระดับการจัดการ” ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้ปัญหาดังกล่าวนี้กลับมาเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก!!…

“เกิดปัญหาวนเวียนซ้ำ ๆ” นี่ก็ “โจทย์ในภาพรวม”

ในภาพรวมนั้น ตอนนี้ก็เกิด “เสียงสะท้อนจากสังคม” ที่มีการมองว่า… เรื่องยกระดับการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวนเวียนซ้ำ ๆ” นี่ควรเป็นหน้าที่ภาครัฐ” หรือไม่??-อย่างไร?? ทั้งกับกรณีนักเรียนติดโควิดที่ต้องสอบ-ต้องเรียน และกรณีผู้ติดโควิดกรณีอื่น ๆ ซึ่งทาง ผอ.มูลนิธิเส้นด้าย ก็มี “ข้อสังเกต” ที่ยึดโยงเสียงสะท้อนนี้ โดยมีการระบุมาด้วยว่า… 

การที่ รัฐเร่งประกาศจะให้ “โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น” นั้น ส่วนตัวไม่มีข้อโต้แย้ง แต่การเร่งประกาศจะให้เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ในช่วงเวลาแบบนี้ แล้ว “สังคมเกิดคำถาม??” ตามมา…ก็จึงไม่ผิด!!คำถามที่เกิดตามมานั่นก็คือระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน” ขณะนี้ ดีเพียงพอแล้วหรือยัง??” ซึ่งระบบที่ดี “จะต้องรองรับประชาชนทุกกลุ่มได้” โดยจะต้องไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง หรือ “ต้องไม่มีใครที่ต้องตกหล่นจากระบบ” ซึ่งปัญหาที่เกิดกับกรณีการสอบ TCAS ปีนี้ ก็น่าจะสะท้อนคำตอบของคำถามนี้ได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน …ทาง ผอ.มูลนิธิเส้นด้าย ระบุไว้

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูคำว่า “โรคประจำถิ่น” หรือ “Endemic” ตามที่ได้เคยมีการระบุไว้ใน วารสาร @Rama ฉบับ ต.ค. 2563 หมายถึง… โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น หรือ โรคที่มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ และเคยมี บทความโดย TDRI ที่ชี้ไว้ว่า…ความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยการจะเป็นโรคประจำถิ่น ของโควิด

ประเด็นสำคัญ ๆ เหล่านี้ยึดโยง ระบบการจัดการ”

“ระบบรองรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” คือ โจทย์”

ที่…คำตอบที่ถูกที่ต้องมี!! คือดีเพียงพอ!!”.