วันที่ 14 มี.ค. นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) จะประชุมเพื่อเคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. , สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ( ส.ก.) , นายกเมืองพัทยา ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ( ครม.) มีมติให้จัดการเลือกตั้งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจาก ครม.มีมติก็ต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน ดังนั้นปฏิทินเบื้องต้นคือคาดว่าวันที่ 7-11 เมษายนนี้จะเปิดรับสมัครผู้สนใจ แล้วให้เวลารณรงค์หาเสียงราว ๆ 40 กว่าวัน ก่อนจะกาบัตรในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งถ้าเลื่อนไปถึง 29 พ.ค.จะช้าไปกับกรอบเวลา 3 เดือน และจะก่อน 22 พ.ค.ก็ติดวันหยุดยาววิสาขบูชา
สังเกตจากผลโพลล่าสุดของนิดาโพล เมื่อมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เตรียมเปิดตัวมากขึ้น ค่าการตัดสินใจของประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนโดยกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเริ่มจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่จะเลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคมที่จะลงในนามอิสระก็ยังนำลิ่วอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญว่า “น่าจะนอนมา” แต่เมื่อมีการรับสมัคร การเปิดนโยบายของผู้สมัครรายอื่น การดีเบต มันก็เป็นตัวแปรให้การตัดสินใจเปลี่ยนได้
แม้กระทั่งการวางตัวของผู้สมัครก็มีผล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งหนึ่งที่นางปวีณา หงสกุล ลงสมัครในนามอิสระ ( ซึ่งขณะนั้นว่ากันว่าพรรคไทยรักไทยหนุนอยู่ ) นางปวีณา “ออกอาการรุนแรงไปหน่อย” เมื่อถูกถามเรื่องวุฒิการศึกษา ที่มีการอ้างว่า โรงเรียนที่จบมาจากต่างประเทศนั้นไม่มีอยู่จริง ทำให้คะแนนของนางปวีณาตกไปในช่วงสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียง ดังนั้น ผู้สมัครเองก็ต้องระวังตัวมากในการแสดงท่าทีอะไรต่างๆ
ผู้ว่าฯ กทม.จำเป็นต้องใช้ฐานเสียงพรรคสนับสนุนหรือไม่ เอาจริงในนามอิสระก็ชนะได้ อย่างสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ได้บอกว่ามาในนามพรรคประชากรไทย ส่วนคู่แข่งในครั้งนั้นคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาในนามพรรคไทยรักไทย ผลปรากฏว่า คะแนนของนายสมัครพุ่งไปถึงล้านคะแนนแบบทิ้งห่างคุณหญิงสุดารัตน์มาก คนที่ลงในนามอิสระก็มีลุ้น เพียงแต่ต้องเป็นคนที่เป็นที่รู้จักพอสมควรว่าเคยมีผลงานอะไรบ้าง นโยบายดี
คนล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ลาออกมาลุยสนามผู้ว่าฯ เต็มตัว รายนี้มีข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) อาจให้การสนับสนุน และเจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ส.ส.ของพรรค พปชร. และทีม ส.ก.ของพรรคกล้าพร้อมให้การสนับสนุนอยู่ ..ซึ่งก่อนการให้สัมภาษณ์นี้ นายสกลธียืนยันว่าจะลงในนามอิสระเพราะสามารถดึงคนเก่งจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมงานได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับพรรค
คนที่ประกาศสนับสนุนนายสกลธี ที่เปิดหน้ามาแล้วก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ซึ่งนายสกลธีก็เคยเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. ถ้าไม่บังเอิญว่าอดีต กปปส. ส่วนมากชักจะไม่ปลื้มรัฐบาลนี้แล้วก็น่าจะได้เสียงสนับสนุนจากทางนั้น และคนต่อมาที่เปิดหน้าสนับสนุนมาตั้งแต่ปีกลาย คือ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กับ มจ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ ที่มีภาพของความเป็นฝั่งขวา รักสถาบัน ภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนตรงนี้อาจดึงฐานกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกันให้เข้ามาร่วมสนับสนุนนายสกลธีได้อีกทาง
เมื่อฝ่ายขวาเปิดหน้าสนับสนุน ผลโพลที่จะทำก่อนเปิดรับสมัครจริงจึงน่าสนใจว่า เสียงของฝ่ายขวามีพลังจนเป็นนัยยะสำคัญของคะแนนเสียงในการเลือกผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ ในกรุงเทพฯ กลุ่มแนวคิดฝั่งขวาที่กลุ่มแนวคิดฝั่งซ้ายเรียกว่า “สลิ่ม”ก็เยอะโดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ นั้นเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวนมาก ซึ่งเร็วๆ นี้ กกต.น่าจะมีการเปิดสำมะโนประชากรของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แล้วเราก็คงได้เห็นสถิติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ และแต่ละช่วงวัยมีเท่าไร
ขณะนี้ ผลโพลนายชัชชาตินำแบบขาดลอยอยู่ แต่คนที่ตามมาที่สองกลายเป็นคนที่ยังไม่ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่บอกแค่ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจและรอให้ใกล้เวลาจะสมัครผู้ว่าฯ ก่อนถึงจะลาออก ถ้าจะสมัครตั้งแต่วันที่ 7-11 เมษายน “บิ๊กวิน”ก็จะต้องลาออกราววันที่4 เม.ย.เป็นอย่างน้อย ซึ่งดูท่าทาง “บิ๊กวิน”ก็มีแนวโน้มจะลงสมัครอยู่ จากการพีอาร์ผลงานของตัวเองลงในเพจ “ผู้ว่าฯอัศวิน”ด้วยสโลแกน “กรุงเทพฯเปลี่ยนไปแล้ว” แล้วยังได้เพจลูกชาย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ช่วยประชาสัมพันธ์งานของผู้ว่าฯกทม.เพิ่ม
แม้จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.อยู่ แต่การเปิดตัว เปิดนโยบายใหม่ช้า “บิ๊กวิน”ก็ต้องระวังว่า คนอื่นจะแย่งคะแนนไปเสียหมด ถ้าจะหวังชิงเก้าอี้อีกสมัย บอกแค่ว่าตัวเองทำอะไรไปแล้วไม่พอ ต้องบอกว่าจะทำอะไร ไปจนถึงอะไรที่ทำอยู่แล้วมันดีจนคนกรุงเทพฯ ต้องอยากให้ผู้ว่าคนเดิมอยู่ทำต่ออีกสมัย
สิ่งที่น่าสนใจคือ “บิ๊กวิน”ใช้ฐานคะแนนเสียงจากไหน และมีความเคลื่อนไหวที่ “ดูน่าจะมีความเชื่อมโยงอยู่บ้าง” คือความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย ( ศกท.) ที่ขณะนี้ลงพื้นที่บ่อยๆ ในกรุงเทพฯ เอง ร.อ.ธรรมนัสก็ลงพื้นที่ย่านชุมชนแออัดอย่างที่คลองเตย หรือชุมชนแออัดย่านสาทร ซึ่งมองมุมหนึ่งก็เหมือน “แนะนำตัว”ล้างคราบพรรค พปชร. และบอกว่าตัวเองคือพรรคใหม่ที่“ใจถึง พึ่งได้” เป็นการหาฐานเสียงในกรุงเทพฯ เพราะพรรคเศรษฐกิจไทยก็ตั้งใจจะส่ง ส.ส.เขตให้ครบทั้ง 400 เขต
ซึ่งการ “เช็กเสียง” ของพรรค อาจมีการหยั่งเชิงดูจากการสนับสนุนผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้ ข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสเองก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ“บิ๊กวิน” ..ดีไม่ดี อาจเป็นไปได้ที่ ร.อ.ธรรมนัสจะช่วย “บิ๊กวิน”ในการทำคะแนนเสียงหากเจ้าตัวจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัยหนึ่ง อาจหวังตั้งแต่ว่า เพื่อเชคเสียงว่า ถ้าหนุน“บิ๊กวิน”เสียงตอบรับต่อพรรคจะเป็นอย่างไร ถ้า“บิ๊กวิน”ชนะ ก็จะเป็นกลไกฐานเสียงสำคัญของพรรคเศรษฐกิจไทยในกรุงเทพฯได้
ตัว“บิ๊กวิน”เอง ในช่วงที่มีโควิดหรือน้ำท่วม ก็ลงพื้นที่ให้ประชาชนเห็นหน้าอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตชุมชนแออัด ย่านพวก“บ้านไม่มีรั้ว” …กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูง กลุ่มยากจน กลุ่มใช้แรงงานก็ยังมีจำนวนมาก และเป็นพวกอยู่มานานมีสำมะโนประชากรในกรุงเทพฯ ก็เยอะ ดูเหมือน“บิ๊กวิน”มุ่งเจาะกลุ่มนี้มาพักใหญ่ๆ แล้ว ..การเจาะกลุ่มนี้ได้จะเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งของคะแนนเสียง โดยเฉพาะที่พวกเขาต้องการคือเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง หรือถึงแม้ไม่ใช่งานผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงก็ต้องมีอะไรที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้ได้บ้าง
อย่างเช่น การมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อให้พ่อแม่หาเช้ากินค่ำได้ไปทำงาน การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือมีการเข้าไปติดตามคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงตามชุมชนต่างๆ เพื่อรับบริการสุขภาพทันหากเกิดปัญหา ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ จะทำอย่างไรถึงจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น ทำได้กระทั่งฟอกไต และสามารถเข้าถึงได้ง่าย
คุณภาพเมืองที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม มีสวนสาธารณะ แต่ส่วนที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากนี้ยิ่งมีความสำคัญ.. สำหรับกลุ่ม “บ้านมีรั้ว” หรือกลุ่มชนชั้นกลางถึงบน กลุ่มที่มีทรัพย์สินประกอบกิจการขนาดเล็กของตัวเองได้ ก็ต้องการนโยบายที่ดึงดูดให้เกิดการลงทุนหรือบริโภค ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองจัดนิทรรศการ ผู้ประกอบการก็หวังอยากเห็นนโยบายอะไรที่เอื้อต่อการดึงนักท่องเที่ยวอย่างเดียว หรือดึงกลุ่มธุรกิจเที่ยวไปด้วย มาดูนิทรรศการ หรือสัมมนาไปด้วย หรือที่เรียกว่าธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions ) ที่กำลังบูม ตรงนี้ต้องถามว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายอย่างไร ?
เพราะเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงนี่แหละ นโยบายของผู้ว่าฯกทม. ในเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมธุรกิจ จึงต้องออกแบบให้ครอบคลุมไปด้วย.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”