ในยุคดิจิทัลครองโลก การสงครามจึงไม่ได้เกิดขึ้นในโลกที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแวดวงข่าวสาร ก็มี ‘สงครามข่าว’ เกิดขึ้นเช่นกัน นอกจากสื่อในมือของแต่ละฝ่าย แล้วยังมีสื่อมวลชนอิสระอีกจำนวนนับไม่ถ้วน รวมถึงชาวบ้านเดินดินธรรมดาก็สามารถเป็นผู้สื่อข่าวจำเป็นได้ ขอเพียงมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้

สำนักข่าวหลายแห่งเริ่มรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ‘ข่าว’ ต่าง ๆ ที่ปรากฏในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลายข่าวที่เห็นแล้วอาจไม่น่าเชื่อว่าคือข้อมูลที่โดนบิดเบือนหรือปั้นแต่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและคำพูดหลอกลวง เพื่อปั่นให้เป็นกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์ ดังตัวอย่างข่าวลวงต่อไปนี้

* ข่าว ‘เครื่องบินปิศาจแห่งเคียฟ’ ซึ่งพูดถึงเครื่องบิน MiG-29 ที่บินลาดตระเวนท้องฟ้ากรุงเคียฟทุกเช้า และมีนักข่าวชาติตะวันตกตั้งฉายาให้ว่าเป็น ‘ปิศาจแห่งเคียฟ’ รวมถึงระบุว่าได้ยิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกไปแล้ว 6 ลำ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเครื่องบินลำนี้มีอยู่จริง ส่วนคลิปวิดีโอที่อ้างว่าบันทึกภาพของเครื่องบินปิศาจลำนี้ได้ ก็เป็นเพียงภาพดัดแปลงจากวิดีโอเกมชื่อว่า Digital Combat Simulator: World

* ภาพข่าว ‘เซเลนสกีเยี่ยมกองทหารแนวหน้า’ แพร่หลายบนทวิตเตอร์ เป็นภาพของประธานาธิบดีเซเลนสกีแแห่งยูเครนสวมชุดพรางของทหาร เจตนาของการโพสต์ก็คือเพื่อยกย่องความกล้าหาญของเขา ภาพนี้เป็นภาพจริง เพียงแต่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้  โดยภาพดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ที่เขาเข้าเยี่ยมกองทหารเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

ภาพเซเลนสกีเยี่ยมกองทหารเป็นภาพจริง แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราวเดือนเมษายน ปีที่แล้ว

* คลิปวิดีโอข่าว ‘โรงไฟฟ้าลูฮันสก์ระเบิด’ เป็นไวรัลที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยยอดผู้เข้าชมกว่าแสนครั้ง แชร์ออกไปนับร้อยครั้ง และมีสำนักข่าวบางแห่งนำไปใช้พร้อมบรรยายว่า เป็นการระเบิดของโรงไฟฟ้าลูฮันสก์หลังจากที่โดนรัสเซียยิงมิสไซล์ใส่ 

ในความเป็นจริงแล้ว คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์โรงงานเคมีระเบิดที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน เมื่อปี 2558 

* ข่าว ‘ประธานาธิบดีปูตินขู่ฟีฟ่าที่แบนนักบอลรัสเซียไม่ให้ลงแข่งบอลโลก’ จากการตรวจสอบทีมตรวจข่าวลวงของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ไม่เคยปรากฏหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าประธานาธิบดีของรัสเซีย กล่าวในเชิงข่มขู่เช่นนั้น มีเพียงข่าวว่าสมาพันธ์ฟุตบอลรัสเซียจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬาเท่านั้น

* ข่าว ‘ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ บริจาคเงินให้ยูเครน 10 ล้านเดอลลาร์สหรัฐ’ จากการตรวจสอบพบว่า แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดดาราหนุ่มยอมรับว่า ดิคาปริโอ ได้บริจาคเงินหลายครั้งให้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประเทศยูเครนจริง แต่ไม่มีการยืนยันว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ขณะที่ตัวแทนของดาราหนุ่มยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

* คลิปข่าว ‘ทหารยูเครนยิงพลเมืองในเชชเนียอย่างโหดร้าย’ ที่พบว่าเป็นไวรัลบนทวิตเตอร์นั้น ความจริงแล้วเป็นบางส่วนที่ตัดตอนมาจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง ‘The Search’ ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2557 มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ในเชชเนีย เมื่อปี 2542

* ภาพข่าว ‘ชาวนายูเครนยึดเครื่องบินรบของรัสเซีย’ ซึ่งเป็นภาพรถแทรคเตอร์สีเขียวกำลังลากเครื่องบินรบลำหนึ่งอยู่บนถนน ภาพนี้สืบย้อนไปได้ถึงปี 2554 มาจากภาพข่าวในประเทศโครเอเชีย เกี่ยวกับการเตรียมงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 20 ปี ของกองทัพโครเอเชีย และไม่เกี่ยวข้องกับยูเครนหรือรัสเซียเลยแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับภาพข่าว ‘ชาวนายูเครนขโมยจรวดโซยูซของรัสเซีย’ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าเป็นภาพที่ตัดต่อด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพ

ความจริงแล้ว นี่คือภาพระหว่างการเตรียมงานฉลองครอบรอบ 20 ปี ของกองทัพโครเอเชีย

* ข่าว ‘ซีเอ็นเอ็นโพสต์เฟคนิวส์’ พร้อมด้วยภาพที่ ‘ดูเหมือน’ แคปมาจากบัญชีโซเชียลมีเดียของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น จัดว่าเป็นข่าวลวงในข่าวลวงอีกที 

เนื้อข่าวที่กระจายเป็นไวรัลนั้น พูดถึงสำนักข่าวดังของสหรัฐที่โพสต์ข่าวการเสียชีวิตของนักข่าวซีเอ็นเอ็นชื่อว่า ‘เบอร์นี โกเรส’ ถึง 2 ครั้ง ระหว่างทำข่าวที่อัฟกานิสถานและยูเครน ในระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 6 เดือน 

ข่าวลวงในข่าวลวง : ‘เบอร์นี โกเรส’ ไม่มีตัวตนจริง และซีเอ็นเอ็นไม่เคยโพสต์ถึงเขา

ความจริงก็คือ เบอร์นี โกเรส ไม่มีตัวตนอยู่จริง และภาพประกอบข่าวนั้น เป็นการจัดสร้างขึ้นมาใหม่อย่างแนบเนียน และภาพของ โกเรส ที่ปรากฏอยู่ในภาพข่าวปลอมนั้น แท้จริงแล้วคือนักเล่นวิดีโอเกมที่ชื่อว่า ‘จอร์ดี จอร์แดน’

แหล่งข้อมูล : Reuters/FactCheck, Algora.com, Factcheck.org

เครดิตภาพ : Getty Images, Algora.com, Factcheck.org, Twitter