เมื่อเมืองขยายตัว เส้นทางคมนาคมก็เปลี่ยนแปลง จนทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ คลองบางประทุน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคลองเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองใหญ่อีก 2 คลอง คือ คลองสนามชัย และคลองภาษีเจริญ มีการปรับเปลี่ยนไปตามเส้นทางคมนาคมและกาลเวลา แต่ท่ามกลางเมืองที่เปลี่ยนแปลง วันนี้ก็ยังมีวิถีดั้งเดิมวิถีหนึ่งที่ยังแนบแน่นกับชีวิตของผู้คนที่นี่ โดยมีชายวัย 55 ปี ทำหน้าที่เป็น “ผู้เชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน” อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ “วิถีเรือจ้าง” อีกหนึ่งอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับผู้คนที่คลองแห่งนี้มานับแต่อดีต ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จัก “ตำนานแห่งคลองบางประทุน” คนนี้กัน…

“เศรษฐีณัณท์ สุขสุทธิ์” วัย 55 ปี ที่ใคร ๆ เรียก “ลุงหลิม” เป็นเจ้าของตำนานเรื่องนี้ ในฐานะ “เรือแท็กซี่ลำเดียวที่เหลืออยู่ที่คลองบางประทุน” โดยเจ้าตัวเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า มีภรรยาชื่อ “ประยงค์” อาชีพแม่บ้าน และมีลูกชายชื่อ “ณัฐกิจ” เรียนอยู่ชั้น ม.2 โดยลุงหลิมเองนอกจากอาชีพทำสวนแล้ว การขับเรือรับจ้างก็เป็นอีกอาชีพที่รัก ผู้โดยสารที่ใช้บริการทุกคนก็เป็นเหมือนญาติหรือคนในครอบครัว ซึ่ง “30 ปีเป็นอายุงาน” เรือรับจ้างคนนี้ โดยลุงหลิมได้เล่าว่า ถึงแม้การเดินทางจะเปลี่ยนไปมากจากในอดีต แต่คนในคลองบางประทุนก็ยังนิยมเรียกใช้บริการเรือจ้าง ทำให้ทุก ๆ บ้านในคลองนี้จึงมีเบอร์โทรศัพท์ของคุณลุงหลิม โดยหากใครจะใช้บริการจะต้องโทรฯ เรียก หรือนัดเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะคุณลุงมีแฟนคลับเรียกใช้บริการอยู่ตลอด

“ลุงจะเริ่มขับเรือตั้งแต่เช้ามืด และช่วงค่ำจะขับไปจนถึง 3 ทุ่ม เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนจะไปทำงาน เด็กจะไปโรงเรียน และจะกลับบ้าน ทำให้วัน ๆ หนึ่งก็ต้องทำงานยาวนานประมาณนี้” คุณลุงพูดถึงเวลาประจำการให้ฟัง พร้อมกับบอกถึงอัตราค่าบริการว่า จะคิดราคาต่อเที่ยวอยู่ที่ 40-60 บาท แต่ถ้าหากมีสิ่งของให้ขนด้วย ก็จะขอคิดเพิ่มอีกเล็กน้อย ทั้งนี้ นอกจากการรับส่งผู้โดยสารแล้ว คุณลุงยังมีการรับ-ส่งสินค้าต่าง ๆ รวมถึงจดหมายและพัสดุจากไปรษณีย์ให้ชาวบ้านอีกด้วย

“ที่เขาเรียกใช้ลุง คงเพราะเห็นว่าลุงมีประสบการณ์ รู้งาน และชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี เพราะคลองเล็กคลองน้อยในนี้ ลุงรู้จักหมดแหละ” คุณลุงหลิม ตำนานเรือแท็กซี่คลองบางประทุน บอกเรื่องนี้อย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเล่าประวัติชีวิตให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ชีวิตผูกพันกับคลองแห่งนี้มาตั้งแต่เด็ก โดยหลังเรียนจบ ม.3 ก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสารพัดช่าง ย่านดินแดง โดยเลือกเรียนสาขาช่างกลึง หลังเรียนจบก็ไปทำงานที่โรงงานรถยนต์แห่งหนึ่ง แต่ทำไปก็รู้สึกว่าไม่มีความสุข เพราะเหมือนไม่ใช่ตัวเอง ทำอยู่ไม่ถึงปีก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาช่วยคุณแม่ทำสวนและค้าขาย ทำให้จำเป็นต้องพายเรือขายของ จนต่อมาคุณพ่อได้ซื้อเครื่องยนต์มาติดเรือให้ และสอนให้ขับเรือยนต์ ทำให้คุณลุงขับเรือเป็นมาตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น

“บางครั้งพ่อไม่อยู่ ข้างบ้านที่เขาต้องการใช้เรือ ก็จะมาไหว้วานบ้าง จ้างเราบ้าง เราก็ไปให้ พอเริ่มมีรายได้ก็ชอบ ตั้งแต่นั้นก็เลยขับเรือรับจ้างเป็นอีกอาชีพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

ลุงหลิมบอกอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้ามาถึงพื้นที่แล้วก็ตาม แต่คนในคลองบางประทุนก็ยังเรียกใช้บริการเรือรับจ้างตามปกติ เนื่องจากเป็นขาประจำกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ก็ใช้บริการกันมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แม้แต่ละบ้านจะมีเรือเองทุกหลัง แต่ก็ยังเลือกใช้บริการของคุณลุงอยู่ดี เพราะหากขับเรือหรือพายเรือออกไปทำธุระในเมือง ก็จะเจอปัญหาไม่มีที่จอดเรือ ดังนั้นทุก ๆ บ้านจึงมักใช้บริการของคุณลุงหลิม เพราะสะดวกสบาย ปลอดภัย และไม่ต้องพะวงเรื่องที่จอดเรือ 

“ลุงจะตื่นตี 4 ทุกวัน ทำธุระส่วนตัวเสร็จก็จะเตรียมตัวออกรับขาประจำให้ทันตี 5 ที่ต้องออกเช้ามากเพราะบางคนเขาทำงานอยู่ไกล เสาร์อาทิตย์ก็จะพิเศษหน่อย ต้องออกเช้าขึ้นราว ๆ ตี 4 ครึ่ง เพราะคุณยายกับคุณตาต้องออกไปเตรียมร้านขายหมากพลูที่ตลาด ซึ่งเวลายืดหยุ่นได้ตามความต้องการของผู้โดยสาร ส่วนใหญ่ก็เป็นขาประจำกัน”

ส่วน “ภาพความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นของ “คลองบางประทุน” คุณลุงบอกว่า สมัยก่อนวิถีคนบ้านริมคลอง ไม่ว่าจะจนหรือรวย เรือคือปัจจัยที่ 5 เป็นสิ่งจำเป็น เปรียบเสมือนแขนขาในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมก็เปลี่ยน ทำให้บางคนไม่สะดวกที่จะใช้เรือเหมือนก่อน การเดินทางโดยใช้เรือถูกแทนที่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้มีเรือถูกปล่อยทิ้งไม่ได้ใช้งานจนผุพังก็มาก แต่คุณลุงก็ยังเลือกที่จะยึดอาชีพขับเรือจ้างเช่นเดิม เพราะยังมีหลายคนที่ต้องการใช้บริการอยู่

“แม้มอเตอร์ไซค์จะทำให้เดินทางได้รวดเร็ว แต่บางครั้งก็ไม่สะดวกที่จะใช้งาน อย่างบางคนที่ไปซื้อของที่ห้าง เวลาจะกลับบ้าน เขาขนขึ้นมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องใช้เรือ หรือพวกของหนัก ๆ เช่น โซฟา ตู้เย็น บางจุดรถกระบะก็เข้าไม่ถึง ก็ต้องใช้เรือขนของเข้าไปแทน ซึ่งลุงก็รับหมด แต่ต้องนัดหรือแจ้งล่วงหน้า เพราะการขนสิ่งของบางอย่างต้องมีอุปกรณ์เสริมมาเป็นตัวช่วย” ตำนานเรือจ้างคลองบางประทุนบอกกับเรา

นอกจากนี้ คุณลุงยังบริการรับ-ส่งเอกสารต่อจากไปรษณีย์ เรียกว่าทำหน้าที่เสมือนเป็น “ไปรษณีย์ประจำคลอง” อีกด้วย อีกทั้งยังรับจ้างขับเรือนำเที่ยว รับ-ส่งคนงาน รวมถึงคอยไปรับ-ส่งสัตวแพทย์ที่มารักษาสุนัข รับ-ส่งต้นไม้ ตลอดจนรับนำบิลค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา ฯลฯ ไปชำระแทนชาวบ้านในคลอง เรียกว่าใครจ้างอะไร คุณลุงทำหมด

“ใครเรียกมาผมไปหมด ส่งของในคลองอย่างเดียวนี่ก็วันละหลายเที่ยวแล้ว ส่วนงานไปรษณีย์นี่เป็นเพราะเขาขี้เกียจมาส่ง เพราะใช้เวลามาก เขาก็เลยจ้างให้ผมทำหน้าที่แทน เพราะผมรู้จักแทบทุกบ้าน ซึ่งคนในคลองเป็นสังคมญาติพี่น้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน คอยดูแลกัน ใครมาอยู่ก็มีความสุขกับบรรยากาศสภาพแวดล้อมแบบนี้” คุณลุงเล่าถึง “วิถีชีวิตที่งดงามตามแบบฉบับคนคลองบางประทุน” ที่แทบหาไม่ได้อีกแล้วในเขตเมืองใหญ่ ๆ

คุณลุงบอกเล่าต่อไปว่า วิถีชีวิตของคนคลองบางประทุนยังใช้วิถีชาวสวน โดยหลายบ้านก็ยังใช้น้ำฝนจากตุ่ม ยังบ่มกล้วยด้วยธูป และยังคงปลูกผลไม้ตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดย “ผลไม้ที่โด่งดัง” และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนที่นี่คือ ลิ้นจี่ กับ มะพร้าว อย่างไรก็ตาม คุณลุงเองก็รู้สึกกังวลว่า แม้ตอนนี้ที่นี่จะยังเป็นสวนอยู่ แต่ความเจริญก็ค่อย ๆ รุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ และก็มีไม่น้อยแล้วที่ขายสวนขายที่ขายทางกันไป เนื่องจากหลายคนต้องปรับตัวอยู่กับโลกที่เปลี่ยนไป

อีกทั้งหลายครอบครัวก็ไม่สนับ สนุนให้ลูกหลานทำสวนต่อ เพราะไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาลำบากเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย นอกจากนี้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ เองก็ต้องทำงานในเมือง จึงไม่สะดวกที่จะใช้ชีวิตที่นี่ ส่งผลให้ทุกสิ่งค่อย ๆ เปลี่ยนไป และในปัจจุบันมีคนต่างถิ่นต่างหน้ามาอยู่กันเยอะขึ้น คนต่างด้าวก็เยอะขึ้นด้วย เพราะรอบ ๆ แถบนี้มีการก่อสร้างใหญ่ ๆ หลายจุด แต่ถึงกระนั้น คุณลุงหลิมเองก็ยืนยันว่าจะขอใช้ชีวิตอยู่คู่กับคลองนี้ต่อไป

“วันนี้ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนไป อย่างเมื่อก่อนในคลองจะมีเรือรับจ้าง 2 คน คือลุงเปี๊ยก และผม โดยลุงเปี๊ยกนี่ถือเป็นเจ้าดั้งเดิม ส่วนผมเป็นคนมาใหม่ ก็เข้ามาแจม ๆ ทีนี้พอลุงเปี๊ยกอายุมากขึ้น แกก็เลยเลิกขับเรือไป สุดท้ายก็เลยเหลือแต่ผมคนเดียว ก็เลยกลายเป็นเรือรับจ้างหนึ่งเดียวในคลองนี้” ลุงหลิมบอก พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า เวลาคุณลุงจะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ จะต้องแจ้งกับลูกค้าทุกคนด้วย ไม่บอกไม่ได้ เนื่องจากถ้าลูกค้าไม่รู้ ติดต่อไม่ได้ จะถูกโวยเลย และอีกอย่างหากลูกค้าติดต่อไม่ได้ เท่ากับว่าคุณลุงเองก็จะขาดรายได้เช่นกัน ส่วนอีกเรื่องที่ทำให้คุณลุงต้องแจ้งลูกค้าทุกครั้งที่เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ก็คือ สงสารลูกค้าที่จะไปโรงเรียนหรือไปทำงานไม่ทัน ทำให้เรื่องนี้ถือเป็น “ความรับผิดชอบสำคัญ” ของคุณลุง

ครอบครัวพร้อมหน้า

“นอกจากเรือลำนี้แล้ว ลุงยังมีเรือสำรองอีก 1 ลำ ส่วนจุดรับส่งให้บริการก็จะมีท่าเรือเอกชัย และท่าเรือกัลปพฤกษ์ ใครที่จะใช้บริการเรือต้องโทรศัพท์อย่างเดียว ซึ่งรายได้แต่ละวันไม่แน่นอน แต่ไม่น้อยกว่าวันละ 500 แน่ รายได้เท่านี้ก็ถือว่าพอกินพอใช้ ก็รู้สึกมีความสุขกับชีวิตแบบนี้” คุณลุงให้ข้อมูล พร้อมกับย้ำถึงความรู้สึกตนเองกับอาชีพนี้

ก่อนสิ้นสุดการสนทนา-ก่อนอำลา “ตำนานเรือจ้างแห่งคลองบางประทุน” ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ถาม คุณลุงหลิมเศรษฐีณัณท์ ทิ้งท้ายว่า อยากฝากอะไรถึง “คนภายนอก” หรือไม่? ซึ่งคุณลุงบอกพร้อมรอยยิ้มว่า อยากเชิญชวนคนรักสีเขียวให้ลองมาสัมผัสบรรยากาศคลองบางประทุน ที่นี่ยังมีความเป็นธรรมชาติ ยังมีบรรยากาศที่เงียบสงบ แถมเป็นคลองที่อยู่กลางกรุง…

“ลุงยินดีต้อนรับทุก ๆ คน”.

รุ่นเก่าพร้อมให้..รุ่นใหม่ไม่รับ??

ลุงหลิมกับลูกชาย

ด้วยอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ คุณลุงหลิมเศรษฐีณัณท์ เองก็เคยคิดว่า อยากจะถ่ายทอดวิชาขับเรือให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้มาสืบทอด “วิถีเรือจ้าง” โดยคุณลุงนั้นพร้อมที่จะถ่ายทอดทุกอย่างให้ เพื่อให้มีคนรับช่วงต่อ “อาชีพดั้งเดิม” อาชีพนี้ไม่ให้สูญหายไปจากคลอง เพียงแต่…คนรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครมาสอบถามหรือแจ้งความประสงค์ว่าอยากจะทำอาชีพนี้เลย ซึ่งที่เป็นเช่นนั้น ตัวของคุณลุงมองว่า หรือเป็นเพราะการขับเรือมันไม่เร็ว ไม่แรง ไม่สนุก ไม่เท่ ไม่เหมือนมอเตอร์ไซค์?? ทำให้ในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ว่า… “เรือจ้างที่เคยอยู่คู่คลองบางประทุน” อาจจะเหลือเป็นเพียงแค่… “ตำนานเล่าขาน”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน
ภมร มานะพรชัย : ภาพ