ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในเส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,920 ล้านบาท และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 55,458 ล้านบาท 

เนื่องจากการประมูลพบพิรุธเรื่องการจัดทำทีโออาร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาในลักษณะล็อกสเปกเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายเท่านั้น ให้เข้าสู่การประมูล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเข้าร่วมการประมูลได้ จึงไม่สามารถแข่งขันให้ราคาถูกลง หากเทียบกับเส้นทางรถไฟในภาคใต้เมื่อปี 60 ที่เขียนทีโออาร์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการประมูล จึงมีผู้เข้าร่วมประมูลมาก ทำให้รัฐได้ราคาถูกลง ประหยัดงบลง 2-3 พันล้านบาท

5 สัญญา 5 ผู้รับเหมารายใหญ่บังเอิญเหลือเกิน!

นอกจากนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ “ACT” ยังออกโรงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาลเร่งทบทวนการประมูล เพราะผลการประมูลโครงการที่การรถไฟฯ แบ่งเนื้องานในโครงการออกเป็น 5 สัญญา โดยมี 5 ผู้รับเหมารายใหญ่เข้าร่วมประมูล ช่างเป็นเรื่องบังเอิญเหลือเกิน

โดยไม่รู้ว่าผู้รับเหมาแข่งขันบี้ราคากันแบบไหน จากราคาประมูลที่เคาะกันออกมาถึงต่ำกว่าราคากลางสุดเหลือเชื่อแค่ 0.08% เท่านั้น จากมูลค่างาน 2 โครงการนี้สูงกว่า 1.28 แสนล้าน แต่ผู้รับเหมากลับเคาะต่ำกว่าราคากลางแค่ 30-40 ล้านบาท (0.08%) ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปดเท่านั้น จะบอกว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ และไม่ให้คนอื่นตั้งข้อสงสัยได้อย่างไร

งานนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการเดินเกมขอแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีการแก้เงื่อนไขทีโออาร์การประมูลกันอย่างน่ากังขาหรือไม่ จากเดิมครม.เคยวางไลน์เอาไว้ให้มีการเปิดเสรีการแข่งขัน เพราะงานสร้างทางรถไฟไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงส่งอะไรนัก จึงให้หั่นโครงการออกเป็น 20-30 สัญญา เพื่อเปิดทางให้ผู้รับเหมาขนาดกลาง ๆ เข้าร่วมประมูลได้ ทำให้มีการเคาะราคาก่อสร้างไว้ต่ำกว่าราคากลางกัน 20-30%

แต่การประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายทางเหนือ-อีสาน กลับมีการแก้ไขมติครม.กันอีกหรือเปล่า? เพื่อให้รวมงานก่อสร้างให้เป็นบิ๊กลอต และรวมงานระบบอาณัติสัญญาณมาผูกไว้เป็นสัญญาเดียว เปิดทางให้เฉพาะผู้รับเหมารายใหญ่เข้าร่วมประมูลได้เท่านั้น ทำให้เลขาธิการ ACT ออกมาระบุว่าหากรัฐบาลปล่อยผ่านไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานการคอร์รัปชั่นที่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือเปล่า? โดยในอนาคตจะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเป็นเรื่องย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลเที่ยวป่าวประกาศเจตนารมณ์ไว้เป็น“วาระแห่งชาติ” ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้อาจซ้ำรอย “สีส้ม

นอกจากโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางแล้ว กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการประมูลจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 1.427 แสนล้านบาท โดยล่าสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23 กม.กว่า ๆ วงเงินลงทุน 1.1 แสนล้าน (งานโยธา 78,713 ล้านบาท) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)   เพิ่งประกาศประกวดราคาไปเมื่อสัปดาห์ต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และมีกำหนดให้ยื่นซองในวันที่ 8 ต.ค.นี้

เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะได้ใจจากการประมูลรถไฟทางคู่ จึงทำให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เดินตามรอยรถไฟทางคู่เกือบทุกกระเบียดนิ้ว คือนอกจากรฟม.จะแยกงานโยธาออกเป็น 6 สัญญา ( 5+1สัญญา) ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.9 กม. ราคากลาง 18,574.868 ล้านบาท  สัญญาที่ 2  ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.3 กม. ราคากลาง 15,155 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม. ราคากลาง 14,452.35 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ราคากลาง 14,337 ล้านบาท สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน พร้อมอาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 12,769 ล้านบาท และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างวางระบบรางรถไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทาง ราคากลาง 3,423 ล้านบาท

แต่ในเงื่อนไขทีโออาร์ ก็มีเอกชนหลายรายตั้งข้อสงสัยว่าถอดแบบมาจากการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เคยอื้อฉาวจนต้องล้มประมูล และมีการยื่นฟ้องศาลไปก่อนหน้านี้หรือไม่? นั่นคือการกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนที่เข้าประมูลต้องยื่นข้อเสนอออกเป็น 3 ซอง ประกอบด้วย 1.ซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ 2.ซองข้อเสนอด้านเทคนิค และ 3. ซองข้อเสนอราคา ผู้ที่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น รฟม.จึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน (สัดส่วน 30-70) ด้วยข้ออ้างเป็นโครงการใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการ

โยง “ผู้กว้างขวางจัดสรรงานให้ผู้รับเหมา

“ซีอีโอ” บริษัทรับเหมารายใหญ่เปิดเผยว่า การกำหนดเงื่อนไขประมูลครั้งนี้ แตกต่างไปจากการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ของรฟม.ก่อนหน้าที่พิจารณาด้านราคาเป็นหลัก โดยรฟม.จะพิจารณาเปิดซองเฉพาะเอกชนที่ผ่านข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และด้านเทคนิคมแล้วเท่านั้น แล้วจึงเปิดซองราคา

แต่ครั้งนี้กลับไปใช้เงื่อนไขเดียวกับโครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่รฟม.ยังไม่สามารถผ่าทางตันการประมูลไปได้ เพื่อหวังให้ทุกฝ่ายได้เห็นว่าเงื่อนไขการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการประมูล หรือได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพหรือทำให้โครงการล่าช้าแต่อย่างใด

ทั้งที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และรถไฟฟ้าสายสีส้ม แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.ต้องการเพียงผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่รถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้รวมสัมปทานการบริหารโครงการเข้ามาอยู่ในโครงการด้วย

แต่งานนี้ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะกอดกันกลม ทุกพรรคยังรับปากจะไม่ทอดทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และ “ทีมเสธ.”ที่อยู่รอบ ๆ นายกฯ จะไม่ฉงนสงสัยเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใสบ้างหรือ? ไม่ว่าจะเป็นการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 78,713 ล้านบาท มีการเมาท์กันในแซ่ด! ทั้งในสภา ในทำเนียบรัฐบาล และนอกทำเนียบรัฐบาล ว่าผู้กว้างขวางในภาคอีสาน เป็นคนจัดสรรงานแต่ละสัญญาให้กับผู้รับเหมา เพื่อเตรียมกระสุนดินดำไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกลางปีหน้า อาจจะมีการเลือกตั้ง

ประหยัดงบได้น้อยมากกว่าสายใต้…เป็นไปได้ไง!

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิศวกรอาวุโส ตั้งข้อสังเกตการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ (ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) และสายอีสาน (ช่วงบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) เป็นการประมูลที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากราคาที่ได้จากการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงนิดเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังต่ำกว่าราคากลางเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน คือแค่ 0.08% เท่านั้น พูดได้ว่าไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!

การประมูลรถไฟทางคู่ 2 สาย สร้างความประหลาดใจอย่างไร? 1.จำนวนสัญญาการประมูลเท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่พอดี สายเหนือแบ่งการประมูลเป็น 3 สัญญา สายอีสานแบ่งออกเป็น 2 สัญญา รวม 5 สัญญา เท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าประมูล โดยมีผู้รับเหมาขนาดใหญ่เข้าประมูล 5 ราย และชนะการประมูลทุกราย

2. ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากัน โดยสายเหนือประมูลเมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 ราคากลาง 72,918 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 72,858 ล้านบาท นั่นคือประหยัดค่าก่อสร้างได้เพียง 60 ล้านบาท เท่านั้น คิดเป็น 0.08% ส่วนสายอีสาน ประมูลเมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ราคากลาง 55,456 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 55,410 ล้านบาท นั่นคือประหยัดค่าก่อสร้างได้แค่ 46 ล้านบาท เท่านั้นคิดเป็น 0.08% เท่ากับสายเหนืออย่างน่ากังขา

เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบฯ-ชุมพร ในปี 60 ประหยัดค่าก่อสร้างได้มากกว่า โดยสายใต้มีราคากลาง 36,021 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 33,982 ล้านบาท ประหยัดได้ถึง 2,039 ล้านบาท คิดเป็น 5.66%  หากการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ สายอีสาน สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้เท่ากับสายใต้ นั่นคือ 5.66% จะทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างได้มากถึง 7,266 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ประหยัดค่าก่อสร้างได้เพียง 106 ล้านบาท

เหตุที่การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ประหยัดค่าก่อสร้างได้น้อยกว่าสายใต้มากอาจเป็นเพราะร.ฟ.ท. ไม่นำทีโออาร์ (ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง) ของสายใต้มาใช้ในการประมูลสายเหนือและสายอีสาน อะไรเป็นเหตุให้ ร.ฟ.ท.เปลี่ยนทีโออาร์ในการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน งานนี้ต้องติดตามกันต่อไป.