ท้องฟ้ามืดสนิทนอกจากจะสังเกตเห็นความสวยงาม ความน่าหลงใหลของมวลหมู่ดาวดวงน้อยใหญ่ได้ชัดเจน ท้องฟ้าโปร่งใสกระจ่าง ไร้เมฆช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นช่วงนี้ยังได้เห็นใจกลางทางช้างเผือกเด่นชัด เริ่มฤดูกาลสังเกตการณ์ทางช้างเผือก…

ทางช้างเผือก เป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้านับแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ “ใจกลางทางช้างเผือก” ส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือกประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา ฯลฯ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อธิบายพร้อมกับเล่าหลากหลายเรื่องน่ารู้ทางช้างเผือกเพิ่มอีกว่า แนวใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกโดยแนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้า

“กระทั่งเข้าสู่ปลายเดือนเมษายนแนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาด บริเวณกลางฟ้าสังเกตเห็นได้หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป โดยสามารถชื่นชมความงามและบันทึกภาพได้ยาวนานขึ้น ทั้งนี้การสังเกตทางช้างเผือกจะเห็นได้เกือบตลอดปี

แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญคือ สภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวน ทั้งแสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมืองจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกอย่างชัดเจน โดยช่วงเวลานี้ถือเป็นการเปิดฤดูกาล เป็นช่วงจังหวะดีสำหรับการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก”

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ช่วงเวลานี้จะเริ่มสังเกตทางช้างเผือกได้นับแต่เวลาตีสี่เป็นต้นไป ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น การสังเกตทางช้างเผือกจากปลายเมษายนถึงต้นตุลาคมจะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูง่ายขึ้น ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่น ๆ ทั้งอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆฝน และมืดสนิทจะเป็นโอกาสให้กับนักถ่ายดาวเก็บภาพประทับใจ      

ใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง กับกลุ่มดาวคนยิงธนู นับแต่ต้นมีนาคมเป็นต้นไปจากที่กล่าวเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลที่จะเริ่มสังเกตใจกลางทางช้างเผือก หรือบางครั้งเรียกว่า ฤดูการล่าช้าง เป็นช่วงที่เริ่มสังเกตการณ์ใจกลางทางช้างเผือกได้อีกครั้ง”

นอกจากความสวยงาม ยังพบว่าบริเวณใจกลางทางช้างเผือกมีหลุมดำขนาดใหญ่ การสังเกตการณ์ช่วงเวลานี้จึงมีความเหมาะสม อีกทั้งในมุมมองการถ่ายภาพถือเป็นจังหวะดีที่นักถ่ายดาว หรือผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในเวลาค่ำคืน ทางช้างเผือก ถือเป็นอีกไฮไลต์หนึ่ง

“ภายใต้ความมืด แนวฝ้าจาง ๆ การถ่ายภาพสามารถใช้กล้องสมาร์ทโฟนที่มีโหมดการถ่ายภาพ สามารถเปิดหน้ากล้องค้างไว้ได้นาน ๆ หลายวินาที เลือกนำมาใช้ถ่ายภาพได้ จากภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อถ่ายออกมาจะเห็นกระจุกดาว เนบิวลาที่ซ่อนอยู่ เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจน ฯลฯ เป็นอีกความน่าสนใจจากการติดตามสังเกตทางช้างเผือก”

ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่พาดผ่านกลุ่มดาวหลายกลุ่ม การจะชื่นชมความงามทางช้างเผือก จึงต้องหลีกเลี่ยงแสงรบกวนจากดวงจันทร์ และมลพิษทางแสงซึ่งไม่เอื้อต่อการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อย จึงควรเลือกสถานที่ที่อยู่ห่างจากชุมชนเมือง หรือสถานที่ที่มีความมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนโดยรอบ  ศุภฤกษ์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็น เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ หรือเหมาะที่จะออกไปถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยที่ผ่านมาทาง สดร.ได้รณรงค์หลายพื้นที่ ร่วมกันสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เห็นถึงประโยชน์ของท้องฟ้ามืด ซึ่งทางช้างเผือกเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญ

“การรณรงค์สร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด สร้างพื้นที่ที่เหมาะกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ นอกจากเป็น การประหยัดพลังงาน ลดใช้กระแสไฟหรือแสงที่ไม่จำเป็นแล้ว ยัง ส่งผลต่อระบบนิเวศ มีผลต่อการหาอาหารของสัตว์ป่า การหายไปของแมลงบางชนิด อีกทั้งการใช้แสงที่มากเกินไปส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ฯลฯ

การใช้แสงอย่างถูกต้องเหมาะสม ในโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดยังมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิชาการ ทำให้ได้สัมผัสกับความงามของดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ทั้งส่งผลกับนักดาราศาสตร์ มีท้องฟ้ามืดที่สามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้ดีขึ้น”

การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก จากที่กล่าวสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ทั้งสามารถบันทึกภาพได้ด้วยกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง และการสังเกตการณ์ด้วยกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องไปยังทางช้างเผือกจะเห็นวัตถุในห้วงอวกาศลึกหลากหลายประเภทกระจัดกระจายอยู่

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ช่วงรอยต่อของฤดูกาลโดยต้นฤดูร้อนเวลานี้สภาพท้องฟ้ายังเอื้อต่อการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า โดยที่กล่าวมาทางช้างเผือกสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเช้า การออกไปถ่ายภาพจึงต้องรู้เวลา รู้สถานที่ รู้ทิศทางและกลุ่มดาว เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ศึกษาได้จากทางช้างเผือก ส่งต่อการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ…

บอกเล่าความสวยงามท้องฟ้า ดวงดาวยามค่ำคืน.