@ เริ่มต้นที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยอดผู้ติดเชื้อ และ ยังพุ่งทะยานไปข้างหน้า และ “คนตาย” ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ล่าสุด จ.ยะลา มี “คลัสเตอร์” ที่ โรงเรียนสอนศาสนา อ.ยะหา จ.ยะลา เกิดขึ้นอีก 1 ครัสเตอร์ ให้เป็นที่กังวล…และ ที่ต้องจับตามอง และต้องมีแผนในการรองรับ คือ หลังวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งเป็น วัน “อีดิลอัฎฮา” หรือ วันรารีรายอ ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม เชื่อเถอะ จะมี “คลัสเตอร์” ใหญ่ๆ เกิดขึ้น จาก “ครัวเรือน” อีกครั้ง เพราะ วันนี้ แม้สถานการณ์การระบาดเป็นไปด้วยความรุนแรง แต่ประชาชนใน หมู่บ้าน ตำบล รอบนอกตัวเมือง ยังไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็น หัวหน้า ศบค.ของแต่ละจังหวัด วัน “อีดิลอัฎฮา” จะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทั้งใน ครอบครัว และในเรื่อง “ศาสนปฏิบัติ” ดังนั้นหลังจากวันที่ 22 ก.ค.ไปแล้ว ทั้ง ชัยสิทธิ์ พานิชพงษ์ ผวจ.ยะลา, ราชิต พุ่มสุด ผวจ.ปัตตานี, เจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส, จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา และ เอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.สตูล ต้องมีแผนล่วงหน้าในการ “รับมือ” กับยอด ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง…

@ ขอตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของ “โควิด-19” รอบที่ 4 รอบนี้ บทบาทของ ผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีความ “โดดเด่น” เท่าที่ควรจะมี และควรจะเป็น เชื่อว่า “โควิด-19” ยังอยู่กับเราอีกนาน ผู้มีบทบาทในการ “ชี้นำ” สังคม “มุสลิม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง แวดือราแม มะมิงจิ “บาบอแม” ประธานกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี และ ผู้นำ กรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเพิ่ม “บทบาท” ในการ “ชี้นำ” สังคมมุสลิมในเรื่องการ ต่อสู้กับ สงครามโรค ของ “โควิด-19” ให้มากยิ่งขึ้น

@ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนถึงวันอีดิลอัฎฮา เพียง 3 วัน แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ออกแถลงการณ์ถึงพี่น้องมาลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่า บีอาร์เอ็น เห็นถึงความทุกข์ยากของทุกคนจากปัญหาของ “โควิด-19” ขอให้ทุกคนผ่านพ้นไปด้วยดี เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับผู้ล่าอาณานิคมคือ “สยาม” ผู้ยึดครองปัตตานี จะเห็นได้ว่า “บีอาร์เอ็น” ใช้ทุกโอกาสในการปลุกระดม เพื่อให้คนในพื้นที่ “เกลียดชัง” และร่วมมือกัน “แบ่งแยกดินแดน” และจากงาน “การข่าว” ที่ได้รับทั้งในพื้นที่และจาก “กลันตัน” ประเทศมาเลเซีย ปลายเดือน ก.ค. หรือ ต้นเดือน ส.ค.อาจจะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้อง “ติวเข้ม” เหล่า ผบ.ฉก.ผบ.กกล. เตรียมปฏิบัติการ “เชิงรุก” ต่อพื้นที่เป้าหมาย ให้ได้ก่อน อาจจะทำให้แผนการของ บีอาร์เอ็น ไม่ประสบผล…

@ เป็น “วิบากกรรม” ของเกษตรกรสวนผลไม้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ ทำให้ พ่อค้า แม่ค้า และ บรรดา “ล้ง” เกิดปัญหาในการรับซื้อทุเรียน ซึ่งเวลานี้คือห้วงเวลาที่ ทุเรียน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องตัดขาย…แต่ จากปัญหาการปิดตลาด การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด การ “ล็อกดาวน์” อย่าง เข้มขึ้น ราคาทุเรียนจาก กิโลละ 100 กว่าบาท เหลือเพียง 60-80 บาท ช่องทางขายทาง “ออนไลน์” ช่วยได้ก็ไม่มาก…แต่โชคยังดีที่ ใน อ.เทพา จ.สงขลา มีโรงงานอุตสาหกรรมทุเรียนแปรรูป ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนจากประเทศจีนตั้งอยู่ ช่วยรับซื้อไปได้มาก… แต่ก็ยังมีเกษตรกรสวนทุเรียนเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงต้องรับบทหนัก ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติในครั้งนี้…ที่ต้องชื่นชมคือ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ที่เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวสวนทุเรียน ที่หาตลาดไม่ได้ จึงช่วยเหลือด้วยการส่ง กำลังพล ช่วยตัดช่วยซื้อถึงในสวน เพื่อนำไปแจกจ่ายชาวบ้านและกำลังพลใต้การบังคับบัญชา ได้ใจชาวบ้าน และได้งาน “มวลชน” ไปเต็มๆ….

@ บทบาทในวงการสงฆ์ ในการช่วยสังคม ที่วิกฤติหนักจาก “โควิด-19” พระครูสุวัฒนาภรณ์ (หลวงพ่อภัทร อริโย) เจ้าอาวาสวัดนาทวี และ รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ทำพิธี “เสกคน ปกเมือง” เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับ พุทธศาสนิกชน ในขณะที่พระครูปลัดยอดโดม ศิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดไทรทอง อ.เมืองสงขลา บอกบุญญาติโยมว่า ปีนี้เทียนพรรษาไม่ต้องนำมาถวาย ขอเปลี่ยนเป็น ถุงยังชีพ หรือ สิ่งของต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนจากสถานการณ์ “โรคระบาด” ในขณะที่พระปลัดพลกฤต วัดหาดใหญ่ใน เจ้าคณะตำบลหาดใหญ่ แจกถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทุกวัน “วัดและพระ” คือที่พึ่งของ คนทุกข์ อย่างแท้จริง….

@ ปัญหาของการระบาด และความเดือดร้อนของผู้คน จากการระบาดของ “โควิด-19” รอบที่ 4 แก้ไม่ได้ด้วยการ “ล็อกดาวน์” ถ้าเป็นการ “ล็อกดาวน์” แบบ “ตู่ๆ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะ ประชาชนไม่มีความพร้อมที่จะถูก “ล็อกดาวน์” ให้อยู่กับบ้าน ไม่เคลื่อนไหว ไม่เดินทาง ในเมื่อในกระเป๋าไม่มีเงิน ในครัวไม่มี ข้าวสาร อาหาร ที่จะประทังชีวิต อย่าเอาตัวอย่างที่ “อู่ฮั่น” มาเทียบกับเรา เพราะที่ “อู่ฮั่น” รัฐบาลสาธารณประชาชนจีน มีความพร้อมในการดูแลประชาชน ในเรื่องของการ “ยังชีพ” ในช่วง “ล็อกดาวน์” แต่เราไม่มีความพร้อม อบจ. เทศบาล อบต. และ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีแผนในการ “รับมือ” กับ “ภัยพิบัติ” ในครั้งนี้…ที่สำคัญคือไม่มี “วัคซีน” ที่จะฉีดให้กับประชาชน แม้แต่จังหวัดใหญ่ๆ อย่าง จ.สงขลา เดือน ก.ค. นี้ ได้รับ วัคซีน 200,000 โด๊ส แต่เป็น 200,000 โด๊ส ที่มาอย่าง กะปริดกะปรอย สัปดาห์ละ 50,000 โด๊ส ในเมื่อ วัคซีนไม่มี การแก้ปัญหาด้วยการ “ขัง” ประชาชนให้อยู่ในบ้านถึง 28 วัน โดยไม่มีแผนรองรับ นอกกจาก “กฎหมาย” ไม่มีทางได้ผล….

@ การห้ามชาวบ้านมิให้เดินทางข้ามจังหวัด เป็นจริง และได้ผลหรือไม่ ให้ไปดูที่ จุดการขอหนังสืออนุญาตในการเดินทาง ที่ว่าการอำเภอ และที่โรงพัก ซึ่งมีผู้คนไปขอหนังสือรับรองในการเดินทาง “ล้นหลาม” นั่นหมายถึงการห้ามให้ประชาชนเดินทางไม่ได้ผล และ “ล้มเหลว”…เช่นเดียวกับการ “เคอร์ฟิว” จาก 21.00 น. ถึง 04.00 น. ที่ได้ผลเฉพาะในเมือง แต่ในหมู่บ้าน ตำบล กลุ่มวัยรุ่น ยังขี่รถ จยย. กันอย่างปกติ เพราะกำลังของเจ้าหน้าที่มีไม่พอในการ “ตั้งด่าน” รวมทั้งหลายพื้นที่ไม่ได้ “ใส่ใจ” ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ถ้าไม่เชื่อ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 ทดลองมาดูด้วยตนเอง โดยเฉพาะใน จ.สงขลา แถว ต.พังลา ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา พล.ต.ต.อาซาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา ลงพื้นที่ไปดูได้ทุกคืน….

@ พื้นที่ จ.ตรัง มีคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ เกิดติดต่อกันหลายคดี รวมทั้งหลายพื้นที่เป็นแหล่งระบาดของยาเสพติด พล.ต.ต.สันทัด วินสน ผบก.ภ.จว.ตรัง เห็นที่ต้อง กวดขัน เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละ สภ.ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องตั้งด่าน เพื่อหาเงินค่าปรับ พ.ร.บ.จราจร เบาๆหน่อย ก็ได้ และไปทำงานเรื่องปราบปรามยาเสพติดน่าจะเป็นคุณกับสังคมมากกว่า….

@ ผ่านไปแล้ว 1 เดือน กับการที่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ใช้ระเบิดแสวงเครื่อง ถล่มทหารชุด “จรยุทธ์” ที่ บ้านลางา อ.จะนะ จ.สงขลา ตาย 1 บาดเจ็บ 3 แต่ในทางคดี และการติดตามคนร้ายเคสนี้ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เอ้า พล.ต.ศานติ สกุนตนาค ผบ.ฉก.สงขลา แสดงฝีมือให้ประชาชนเห็นหน่อย เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ ในฐานะที่เป็น “ตัวเก็ง” 1 ใน 3 นายพล ที่จะขยับขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในการโยกย้ายประจำปี….

@ ฮือฮากันมากในแวดวงการเมืองระดับชาติ ในการประชุมของกรรมการสรรหาผู้ที่จะลงแข่งขันเป็น ส.ส.เขต 6 จ.สงขลา เพื่อแทนที่ ถาวร เสนเนียม เจ้าของตำแหน่ง ที่ ปชป.อ่านเกมแล้ว เชื่อว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงมีการประชุมเพื่อสรรหาผู้สมัครคนใหม่ โดยมีการเสนอชื่อ สุภาพร กำเนิดผล (น้ำหอม) รองนายก อบจ.สงขลา หวานใจ (นายกชาย) เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 สงขลา พรรค ปชป. ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ผู้บริหารพรรค ปชป. พรรค “เจ้าหลักการ” จะเห็นพ้องต้องกันกับ กรรมการการสรรหาหรือไม่ แต่ถ้าผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 เป็น สุภาพร กำเนิดผล จริง สนามนี้ จะเป็นการแข่งดุ ที่ พลังประชารัฐ มีหนาว และ ประชาธิปัตย์ มีลุ้นในการรักษาที่นั่งไว้ได้ เพราะยี่ห้อ “นายกชาย” การันตีได้ เรื่อง “ใจถึง มือถึง”….ความสำเร็จที่คนสิงหนคร จ.สงขลา อยากเห็นโรงพยาบาลสิงหนครส่วนหน้าเกิดขึ้น คงไม่ต้องรอนาน และไม่ใช่ “ความฝัน” เพราะวันนี้ อาคารโรงพยาบาลส่วนหน้าสร้างสำเร็จไปแล้ว 2 ชั้น จากการก่อสร้าง และการบริจาคเงิน 20 ล้านของ เฉลิมชัย ครุอำโพธิ์ (เถ้าแก่หลี) อีกไม่นานเกินรอ อาคารโรงพยาบาลส่วนหน้า อ.สิงหนคร จ.สงขลา จะได้ให้บริการคนในพื้นที่แน่นอน…

@ ผลกระทบของ “โควิด-19” ทำให้ ชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา เงียบเหงา เป็น “เมืองร้าง” สมบูรณ์ พงษ์เลิศนภากรณ์ เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท กล่าวว่า มีการประกาศขายโรงแรมจำนวนมาก โดยยอมขาดทุน 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีคนซื้อ เพราะทุกคนมองไม่เห็นอนาคตของเมืองหาดใหญ่ว่าจะฟื้นคืนมาอย่างไร เพราะ “หาดใหญ่” อยู่ได้ด้วย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ที่มาเพื่อทำธุรกิจ มาเพื่อแวะกินข้าวแล้วผ่านไปจังหวัดอื่นๆ สงขลาไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ภูเขา-ทะเล ถึงมี ทะเลสาบสงขลา แต่ทะเลสาบสงขลา วันนี้ หันซ้าย หันขวา ทั้งทะเลเต็มไปด้วย เครื่องมือประมง ไม่มี ทะเลสวย-น้ำใส ให้มองเห็น การที่จะพลิกฟื้นหาดใหญ่ จึงหนักหนาเกินกว่าความสามารถของท้องถิ่น อย่าง เทศบาล, อบจ. และจังหวัด แน่นอน และนี่คือ “ชะตากรรม” ของ “เมืองหาดใหญ่” เมืองที่ในอดีตไม่เคยคิดถึงการหายใจด้วย “จมูก” ของตนเอง เมื่อ มาเลเซีย-สิงคโปร์ ไม่มาเยือน หาดใหญ่ จึงตายอย่างสนิท และแม้ว่า “โควิด-19” จะพ้นไป ก็ยากที่จะ “ฟื้นคืน” เพราะ “โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” แต่ “เจ้าสัว” หาดใหญ่ ยังไม่เปลี่ยน …แล้วพบกันใหม่วันศุกร์หน้าครับ

—————————————————————

ไชยยงค์ มณีพิลึก

เฉลิมพระเกียรติ… พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 /ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานในพิธีอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ วัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา โดย พระครูสุพัฒนาภรณ์ อาจารย์ภัทร อริโย เจ้าอาวาสวัดนาทวี และรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นผู้ดำเนินการ

พระราชทาน… พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นำอาหารพระราชทาน จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย มอบให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” ในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ท่ามกลางความซาบซึ้งของประชาชน

ไม่ทอดทิ้ง… นิพนธ์ บญญามณี รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรค ปชป.พร้อมผู้เกี่ยวข้อง นำถุงยังชีพ 50,000 ชุด เพื่อช่วยประชาชนใน จ.สงขลา ที่ประสบความเดือดร้อนจากการ ล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของ “โควิด-19”

ลุยถึงสวน… พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส นำกำลังพล เข้าในสวนทุเรียน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เพื่อช่วยตัดและรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกร ที่ประสบปัญหาการล็อกดาวน์พื้นที่ ทำให้ขายทุเรียนไม่ได้ราคาไม่มีผู้มารับซื้อเหมือนก่อน เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

ฉีดวัคซีนโค-กระบือ… ร.ต.อ.อรุณ​ สวัสดี ส.ส.เขต 4 สงขลา ได้ร่วมกับ กิติกรณ์​ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา คณิต​ ชาระ ปศุสัตว์อำเภอสทิงพระ นครินทร์​ บุญคง ผู้ช่วย ส.ส.และ ประพันธ์​ ทองบริบูรณ์ ผญบ.หมู่ที่ 6 ตำบลคลองรี ได้ร่วมกันฉีดวัคชินลัมปี สกิน ให้กับโคกระบือประมาณ 800 ตัว ถ้าทั้งอำเภอประมาณ 2,500 ตัว และฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อตามคอกต่างๆ เพื่อป้องกันโรคไวรัสซึ่งกำลังระบาดอยู่ในตอนนี้

แก้ปัญหาตลาด… เชิดเกียรติ เมธีลักษณ์ ที่ปรึกษานายก อบจ.สงขลา หารือกับ เจือ กิ้มอั้น นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพะวง อ.เมืองสงขลา เพื่อใช้พื้นที่ตลาดโคกไร่ ในพื้นที่ ต.พะวง เพื่อทำเป็นตลาดกลางการเกษตร ตามนโยบายของ อบจ.สงขลา

เคียงข้างยามทุกข์… สรรเพชญ บุญญามณี ผู้ช่วยดำเนินงานประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย และทีมงาน นำข้าวสาร อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย มอบให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยติดเตียง ในพื้นที่ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง สงขลา มี รอเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว ร่วมแจกจ่ายให้ชาวบ้าน

สร้างขวัญกำลังใจ… พาตีมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย ธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอเมืองยะลา ลงพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา เพื่อสร้างขวัญ และให้กำลังใจ ชื่นชมทีมงานเยาวชนและประชาชนร่วมมือวางมาตรการในการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างออกไป

ติวเข้มจุดตรวจ… พ.ต.อ.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน รอง ผบก.ภ.จว.ยะลา เดินทางตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ แก่กำลังพล 3 ฝ่าย ณ จุดตรวจตะโละหะลอ ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ได้แนะนำการปฏิบัติ พร้อมให้ระวังป้องกันการก่อเหตุ ได้กำชับกำลังพลทุกนาย ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการระวังป้องกันโควิด-19 ที่ จ.ยะลา ได้ประกาศไว้ และห้ามประมาทต่อสถานการณ์ ในพื้นที่เป็นอันขาด

ระดมกำลัง… รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และแพทย์ในพื้นที่พร้อมบุคลากรเสริมกำลังเพื่อฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อให้รวดเร็วและทั่วถึง

ตู้ปันสุข… ดร.ชัยยา น้อยนารถ ผช.อธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมคณะ ส่งมอบตู้ปันสุข ให้กับ อบต.ควนปริง อ.เมืองตรัง โดย ทักษิณ รักจริง นายก อบต.ควนปริง เป็นผู้รับมอบ

เพื่อเพื่อนมนุษย์… เนติวิทย์ ขาวดี ประธานคณะกรรมการส่งเสรืมพืชเศรษฐกิจไทย จ.ตรัง พร้อมคณะ เยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆ ตามโครงการร่วมต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ ในพื้นที่ ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง

ติดตามความคืบหน้า… พลรัช รองเลื่อน ปลัดจังหวัดพัทลุง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพระราชดำริฯ ขุดบ่อบาดาล เพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

สวดพระอธิธรรม… ภานุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมศพ วรรณา จันท์เสนะ ภรืยา บัญญัติ จันท์เสนะ อดีต รมช.มหาดไทย ณ โรงเรียนทวีรัตน์ ต.คลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ตรวจเยี่ยม… พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจ พร้อมมอบอุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่และประชาชน ณ หน่วยฉีดวัคซีนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี