การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีผู้สมัครแข่งขันรวม 14 คน แต่เป็นที่เข้าใจกันในวงกว้างว่า จะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง นายอี แจ-มยอง วัย 57 ปี อดีตผู้ว่าการจังหวัดคยองกี ตัวแทนพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (ดีพีเค) พรรครัฐบาลปัจจุบัน และนายยุน ซ็อก-ยอล วัย 61 ปี อดีตอัยการสูงสุด ตัวแทนพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) พรรคฝ่ายค้านหลัก

โพลสำรวจตั้งแต่เริ่มต้นหาเสียง คะแนนนิยมของนายอี แจ-มยอง กับนายยุน ซ็อก-ยอล สูสีคู่คี่กัน ประมาณ 40% ทั้งคู่ต่างชูนโยบายหลักคล้ายกันหลายด้าน รวมถึงการแก้ไขปัญหาตลาดอังหาริมทรัพย์ ที่กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในความล้มเหลวมากที่สุด ของรัฐบาลมุน แจ-อิน

นายอี แจ-มยอง นักการเมืองสายเสรีนิยม ประกาศตัวจะเป็นประธานาธิบดีที่มีความเก่งกล้าสามารถ ทำงานได้ผลจริง ส่วนนายยุน ซ็อก-ยอล เป็นผู้สมัครสายอนุรักษนิยม ที่มีบทบาทสำคัญ ในการดำเนินคดีทุจริตต่ออดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ ชูนโยบายหลัก กวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น และเสริมสร้างเศรษฐกิจ ให้เจริญรุดหน้าไปอีก

CNA Insider

สำหรับนโยบายตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในเกาหลีใต้ พอ ๆ กับการระบาดของโควิด-19 ทั้งนายอี แจ-มยอง และนายยุน ซ็อก-ยอล ประกาศจะสร้างที่พักอาศัยเพิ่ม แต่นายอี แจ-มยอง เรียกร้องให้เพิ่มความเข้มงวดกฎระเบียบ เพื่อหยุดยั้งการซื้อขายบ้านเพื่อเก็งกำไร ขณะที่นายยุน ซ็อก-ยอล กล่าวว่า นโยบายอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ละเลย “หลักการตลาด” และกฎระเบียบจะต้องผ่อนคลาย

รายงานของสำนักข่าวยอนฮัประบุว่า ชาวเกาหลีใต้มองการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่แย่ที่สุด (worst election) เนื่องจากมีการหาเสียงโจมตีใส่ร้ายกันเละเทะ และความไม่ชอบถึงขั้นเกลียดชัง ของประชาชน ที่มีต่อผู้สมัครตัวเต็งทั้ง 2 คน อยู่ในระดับสูง เนื่องจากต่างก็มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตติดตัวทั้งคู่ ทำให้เกิดการคาดเดาว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน อาจจะต่ำเป็นประวัติการณ์

หลายฝ่ายคาดหวังว่า หลังการเลือกตั้งครังนี้ จุดยืนนโยบายต่างประเทศของโซล จะมีความชัดเจนมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลง แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่ามันจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าใครชนะเลือกตั้ง นโยบายต่างประเทศโดยรวมของเกาหลีใต้ จะไม่เปลี่ยน โซลจะยังคงยึดมั่นความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เช่นเดียวกับความร่วมมือกับจีน แต่อาจยังคงมีความระมัดระวังมากขึ้น ต่อแผ่นดินใหญ่

จุดยืนเหล่านี้เป็นนโยบายของรัฐบาลมุน แจ-อิน มาอย่างน้อย 2 ปี หลังจากยกเลิกบทบาท ที่อ้างว่า “ถ่วงดุล” ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS