นั่นแสดงให้เห็นชัด ถึงอีกความท้าทายด้านประชากร ที่รัฐบาลแผ่นดินใหญ่กำลังเผชิญ ขณะที่พยายามแก้ไขปัญหา อัตราการเกิดที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วในประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเตือน ประชากรวัยชราที่กำลังเพิ่มขึ้น จะสร้างแรงกดดันมหาศาล ต่อระบบสาธารณสุขและประกันสังคมของประเทศ ขณะที่กำลังแรงงานที่กำลังลดน้อยลง อาจส่งผลกระทบรุนแรง ต่อการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับสองของโลก ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะเปลี่ยนนโยบาย อนุญาตให้ครอบครัวมีลูกได้ถึง 3 คน จากเดิมที่ให้มีได้แค่คนเดียว แต่อัตราการเกิดในประเทศลดลง มาอยู่ที่ 7.52 คนต่อประชากรทุก 1,000 คน ในปี 2564 ต่ำสุดนับตั้งแต่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เริ่มทำการบันทึกข้อมูลประชากร เมื่อปี 2492

ค่าใช้จ่ายสูงลิ่วในการเลี้ยงดูเด็ก มีส่วนทำให้ทางการปักกิ่งกวาดล้าง อุตสาหกรรมกวดวิชาเอกชน ขณะที่ทางการของหลายมณฑล สร้างแรงจูงใจเพิ่มประชากร ด้วยการแจกเงินและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3

ในรายงานผลการศึกษาวิจัย ของสถาบันวิจัยประชากรยูหวา ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ในการเลี้ยงดูเด็ก จนถึงอายุ 18 ปี ในประเทศจีน ในปี 2562 อยู่ที่คนละ 485,000 หยวน (2,509,630 บาท) สำหรับลูกคนแรก สูงกว่าจีดีพีต่อหัวของประเทศ 6.9 เท่า

จีนอยู่อันดับ 2 ในบรรดา 13 ประเทศที่ทำการสำรวจ เป็นรองแค่เกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการเกิดต่ำสุดในโลก ขณะที่สหรัฐ ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลก จากข้อมูลในปี 2558 อัตราการเกิดของประชากรอยุ่ที่ 4.11 เท่าของจีดีพีต่อหัว ส่วนญี่ปุ่นจากข้อมูลในปี 2553 อยู่ที่ 4.26

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กยิ่งสูงขึ้นไปอีก ในหลายเมืองขนาดใหญ่ของจีน อย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ เมืองขนาดใหญ่สุดและเจริญที่สุดของประเทศ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 1 ล้านหยวน (5,174,490 บาท) ส่วนเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 969,000 หยวน

อัตราการเกิดของเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ยิ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

แม่ชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อผู้ใช้ในเว็บไซต์ไมโครบล็อก เวย์ปั๋ว ว่า “หม่าหนิง” โพสต์ข้อความว่า เธอเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ในกรุงปักกิ่ง น่าจะสูงกว่าในรายงาน ของสถาบันยูหวาที่เผยแพร่ และคิดคำนวณค่าใช้จ่ายออกมาเป็นตัวเลข ทำให้ครอบครัวจำนวนมาก เลิกฝันที่จะมีลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3

รายงานของยูหวาเตือนว่า อัตราการเกิดที่กำลังลดลงจะส่งผลกระทบ “รุนแรง” ต่อศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งต่อความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเป็นภาระหนักอึ้ง ต่อระบบสวัสดิการรัฐ

รัฐบาลจีนจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อย 5% ของจีดีพีรายปี เพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ครอบครัวชาวจีนมีลูกเพิ่ม เช่น รัฐออกเงินช่วยค่าการศึกษาเล่าเรียน ลดอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนภาษี ให้สิทธิผู้เป็นพ่อลางาน ได้นานเท่ากับผู้เป็นแม่ลาคลอด และสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพิ่ม

ผู้ใช้เว็บไซต์เวย์ปั๋วอีกคน ชื่อ “ทนายจาง” เขียนว่า รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการ แก้ไขปัญหาการแบกรับภาระที่ไม่สมส่วน ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และเลี้ยงดูลูก

ที่ผ่านมา ผู้หญิงจีนส่วนใหญ่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ทำให้ผู้หญิงมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เป็นเวลายาวนาน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS