สำหรับหน้าที่ของ “น้ำมันเบรก” นั้น เป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลัง กล่าวคือเมื่อเราเหยียบเบรก แรงกดจะถูกส่งไปที่ชุดแม่ปั๊มเบรกบนที่มีหม้อลมช่วยผ่อนแรง จากนั้นแม่ปั๊มเบรกจะทำหน้าที่อัดแรงดันน้ำมันเบรก ผ่านไปยังวาล์วปรับแรงดันให้เหมาะสมกับเบรกหน้า-หลัง ก่อนกระจายแรงผ่านลูกสูบไปดันผ้าเบรกให้เสียดทานกับจานเบรกจนเกิดความฝืดส่งผลให้รถชะลอความเร็วลง จนหยุดในที่สุด
 
คุณสมบัติของ “น้ำมันเบรก” ที่ดี
-เป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลังจากแป้นเบรก สู่ ระบบเบรกได้ดี
-มีความหนืดที่เหมาะสม ทุกช่วงอุณหภูมิ ทั้งร้อน-เย็น
-ไม่เป็นอันตรายต่อลูกยาง และชิ้นส่วนที่เป็นโลหะในระบบเบรก
-เป็นสารหล่อลื่นที่ดี เพื่อป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนที่เสียดสีกัน ภายในระบบเบรก
-มีจุดเดือดสูงและไม่ระเหยได้ง่าย
-รักษาคุณสมบัติต่างๆ ได้นาน
 
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ “น้ำมันเบรก” เสื่อมสภาพ
1.ความร้อน อันเนื่องมาจากการเบรกกะทันหัน หรือเบรกบ่อยๆ ภายใต้ความเร็วสูง จะส่งผลให้ “น้ำมันเบรก” ซึมซับความร้อนเอาไว้ หากระบายสู่ส่วนอื่นไม่ทัน จนถึงจุดเดือดสูงสุด น้ำมันเบรกก็จะระเหยกลายเป็นไอในกระบอกสูบเบรกที่ล้อ ซึ่งในช่วงนี้จะทำให้ไม่มีแรงดันที่จะไปกระทำต่อลูกสูบเบรก ให้ไปดันผ้าเบรก ส่งผลให้เกิดอาการเบรกหาย-เบรกลึก-เบรกไม่อยู่ หรือที่เรียกว่า “เบรกแตก” ดังนั้นจุดเดือดของน้ำมันเบรก จึงมีความสำคัญมาก ต่อประสิทธิภาพระบบเบรก
2.ความชื้น ทำให้น้ำมันเบรกมีคุณสมบัติอันไม่พึงประสงค์ คือเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี แถมยังสามารถผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ และเมื่อความชื้นเข้ามาปะปนอยู่ใน น้ำมันเบรกส่งผลให้มีจุดเดือดลดต่ำลง ยิ่งบ้านเราจัดเป็นเขตที่มีความชื้นสูง “จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก ทุก 1 ปี” เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก และยังเป็นการป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกยางเบรกรั่วได้ง่าย
 
เทคนิคควรรู้
-หลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันเบรกคนละเกรดผสมกัน หากต้องการเปลี่ยนยี่ห้อ-เกรดให้เปลี่ยนถ่ายของเก่าทิ้ง
-โดยทั่วไปผู้ผลิตรถยนต์จะกำหนดให้ใช้น้ำมันเบรก “DOT” 3 หรือ “DOT” 4 และ 90% จะเติม “DOT” 3 มาจากโรงงาน แต่เมื่อเปลี่ยนถ่ายสามารถใช้ “DOT” 4 หรือ “DOT” 5 ซึ่งมีจุดเดือดสูงกว่าได้
-เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในระบบเบรก ควรเปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]