พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ 155 ราย โดยจับกุมตัวได้แล้ว 120 ราย เสียชีวิต 2 ราย และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม 33 ราย ซึ่งในส่วนของผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวน การพิจารณาคดีแล้วศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้วหลายราย ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา” …นี่เป็นบางส่วนจากการเผยไว้โดย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. เกี่ยวกับคดี“ค้ามนุษย์” กรณี “โรฮีนจา” ที่ครึกโครมขึ้นในไทยเมื่อก่อนกลางปี 2558 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแสเกิดขึ้นยึดโยงกับการเมือง

โฟกัส “ปัญหาค้ามนุษย์” นี่ก็เป็น “ปัญหาวาระโลก”

“ที่ไทย” ก็นับว่า “เป็นอีกเป้าใหญ่ที่ถูกจับตามาก!!”

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของปีใหม่ 2565 “ไทยแก้ถึงไหน??”

ทั้งนี้ “เช็กอัพเดท” จากข้อมูลที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยสังเขปมีว่า… การปราบปรามจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์นั้น ในปี 2564 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็น ผบ.ตร. โดยการกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มียอดการเร่งสะสางคดีตามนโยบายรัฐบาล 186 คดี แยกเป็น… แสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี 135 คดี, ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุ สื่อลามก 12 คดี, แสวงหาประโยชน์ทางเพศรูปแบบอื่น 6 คดี, บังคับใช้แรงงาน 30 คดี, ขอทาน 2 คดี, แรงงานบังคับ (มาตรา 6/1) 1 คดี ส่วนปี 2565 เบื้องต้นมียอดสะสางคดีแล้วราว 20 คดี

อย่างไรก็ตาม การ “แก้ปัญหาค้ามนุษย์” นั้น มิใช่มีเพียงมิติด้านปราบปรามจับกุมดำเนินคดี แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ที่ก็สำคัญ และเรื่องนี้ก็ “ยึดโยงประเทศไทยกับเวทีการเมืองและเวทีการค้าระหว่างประเทศ” ด้วย โดยเฉพาะกับ สหรัฐอเมริกา” ที่ ไทยต้องให้ความสำคัญ” ซึ่งจากข้อมูลอัพเดทของไทยก็มีส่วนที่ระบุว่า… พล.อ.ประวิตร ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนงานให้ก้าวหน้า ยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากล ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

ไทยเร่งเรื่องนี้เพื่อที่จะให้ทันรอบประเมินจัดลำดับ

โดยหวังจะได้ยกชั้นกลับขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2”

การแก้ปัญหา “ค้ามนุษย์” ของไทย ก็มีส่วนที่โยงไปถึงการจัดทำรายงานความก้าวหน้าการต่อต้านการค้ามนุษย์เสนอต่อสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา โดย J/TIP Office หรือสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุด ในส่วนที่เกี่ยวกับไทยมีประเด็นก้าวหน้า ภาพบวก ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา 3 เรื่อง คือ… 1.การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในระหว่างการคัดกรองเบื้องต้นจนถึงการคัดแยกเพื่อระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ 2.การออกกฎกระทรวงแรงงาน ให้ใช้สัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว เมียนมา กัมพูชา ลาว และ 3.การยกระดับฝ่าย ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ขึ้นเป็นสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานถาวรสถานะเทียบเท่ากอง

กับ “ศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย” วันนี้ก็ “น่าโฟกัส??”

นี่ “ยึดโยงแก้ปัญหาค้ามนุษย์ตามมาตรฐานสากล”

ทั้งนี้ ความคืบหน้า “จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์” นี้ เห็นว่าทาง พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานกรรมการ ปคม. ได้มอบให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพ ในด้านการปรับปรุงอาคารสถานที่ ระบบเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับห้องซักถามและเฝ้าฟัง โดยกระทรวงแรงงานที่มี สุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมว.แรงงาน ได้สนับสนุนงบประมาณ และจัดทีมงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็น รมว.ดิจิทัลฯ ก็ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบเฝ้าฟังการซักถามสัมภาษณ์ และการจัดการฐานข้อมูลสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เข้ารับบริการจนเสร็จสิ้นกระบวนการคัดแยกและดำเนินคดี โดย ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีรายงานความก้าวหน้าราว 80%

“ภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความก้าวหน้าอีกในหลาย ๆ ด้านเมื่อศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจัดตั้งแล้วเสร็จ และมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยจะได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมูลนิธิ IJM และโครงการ ASEAN ACT ซึ่งจะทำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลในภูมิภาคนี้” …นี่เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปคม. เกี่ยวกับ “การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย” ในมิติต่าง ๆ ที่จะเป็นสากลมากกว่าในอดีต

นี่เป็น อีกเรื่องท้าทายของไทย” ที่ ยังมีข้อท้าทาย”

แต่ก็นับว่า “มีความคืบหน้า” ที่ทำให้ มีความหวัง”

“แก้คนค้าคน!!!” โดยไทย ได้รับการยอมรับ???” .