จากรายงานของสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ ในเครือวิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ )ประชาชนกว่า 70 ล้านคน จาก 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต โดยส่วนหลักทางด้านการประมงและการเกษตร

จีนมีเขื่อนกั้นน้ำบนต้นแม่น้ำโขง 129 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นเขื่อนขนาดยักษ์ (mega-dam) 11 แห่ง และกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีกอย่างน้อย 7 เขื่อน

เขื่อนจีนเหล่านี้กักเก็บน้ำปริมาณมหาศาล ก่อนที่น้ำจะไหลถึงกลุ่มประเทศปลายน้ำ รวมถึงทะเลสาบโตนเล ในกัมพูชา ซึ่งประชาชนราว 2 ล้านคน ทำประมงเลี้ยงชีวิต

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการร่วมกลุ่มแม่โขง แดม มอนิเตอร์ หรือเอ็มดีเอ็ม (Mekong Dam Monitor) ของศูนย์คลังสมอง “สติมสัน เซ็นเตอร์” ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จีนก่อสร้างเขื่อนด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ดังนั้น การจ่ายเงินให้จีน เพื่อให้ระบายน้ำในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกน้อย น่าจะเป็นทางออกที่ดี

ในบรรดาเขื่อนบนต้นแม่น้ำโขงของจีน มีเพียง 2 แห่ง ที่กักเก็บน้ำประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ในช่วงฤดูฝน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้ง คือ เขื่อนเซี่ยววาน (Xiaowan) ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ในระบบแม่น้ำโขง และเขื่อนนัวจาตู้ (Nuozhadu) หนึ่งในเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย 2 เขื่อนนี้กักเก็บน้ำประมาณ 20% ของเขื่อนทั้งหมดในช่วงหน้าฝน

อลัน เบซิสต์ นักอุตุนิยมวิทยาและผู้อำนวยการร่วมกลุ่มเอ็มดีเอ็ม เสนอทางแก้ที่เป็นไปได้ โดยให้อุตสาหกรรมประกันภัยเก็บเงินจากกลุ่มประเทศปลายน้ำแม่น้ำโขง และใช้เงินทุนเหล่านี้จ่ายชดเชยความสูญเสียทางการเงินของจีน ซึ่งขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถขายพลังงานในช่วงหน้าแล้ง วิธีการนี้มีการใช้ได้ผลดีมากในหลายประเทศทั่วโลก

แม่น้ำโขงเผชิญภาวะสายน้ำไหลต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หน้าแล้งยาวนานและหน้าฝนสั้น ภาวะน้ำแห้งเข้าสู่ปีที่ 4 เนื่องจากฝนตกน้อยในช่วงฤดูฝน บวกกับเขื่อนต้นน้ำลดการระบายน้ำอย่างมาก

เบซิสต์กล่าวว่า เอ็มดีเอ็มใช้ดาวเทียมสังเกตการณ์ตรวจสอบ ทำให้เห็นชัดเจนว่า เครือข่ายเขื่อนต้นน้ำโขงของจีนสามารถกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาล และเห็นการลดปริมาณน้ำที่ปล่อย

ในปี 2564 เขื่อนต้นน้ำในจีนปล่อยน้ำ 22 ครั้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นกว่าครึ่งเมตร และระดับน้ำลดลงเท่ากัน เมื่อเขื่อนจีนหยุดปล่อยน้ำ

อายเลอร์กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นหรือลดลงกว่า 1 เมตร ในหลายโอกาส เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะมันทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 1,100 ชนิด เกิดความสับสน

เหวียน หูเถียน ที่ปรึกษาอิสระด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในเวียดนาม กล่าวว่า ผู้ที่เปลี่ยนแปลงสัญญาณน้ำ กำลังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบระบบนิเวศทั้งหมดของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาสองน้ำ (migratoryfish) ซึ่งต้องพึ่งพาการกระเพื่อม และการสั่นของสายน้ำเพื่อเริ่มกิจกรรมวงจรชีวิต เช่น การอพยพ

การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และจังหวะตามธรรมชาติของแม่น้ำ จะทำให้ปลาสับสน ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะอพยพไปต้นน้ำเพื่อวางไข่

นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่า การประมงในแม่น้ำโขงกำลังจะหายไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES