“วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ก่อตั้งโดย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2498 และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือ นายโชติ มณีน้อย เป็นนักข่าวรุ่นบุกเบิก ก่อตั้งลงนามร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวม 16 ฉบับ ได้แก่

  1. หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
  2. หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
  3. หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
  4. หนังสือพิมพ์ซินเสียง
  5. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  6. หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
  7. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
  8. หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
  9. หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
  10. หนังสือพิมพ์หลักเมือง
  11. หนังสือพิมพ์ศิรินคร
  12. หนังสือพิมพ์สยามนิกร
  13. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
  14. หนังสือพิมพ์สากล
  15. หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
  16. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ความสำคัญของ “วันนักข่าว” นับแต่อดีต
“วันนักข่าว” ทำให้สมาชิก และผู้ที่อยู่ในวงการแวดวงข่าวสาร หนังสือพิมพ์ และสื่อทุกช่องทาง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข่าวสาร มีการมอบรางวัลนักข่าวดีเด่น ภาพข่าวดีเด่น และข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ที่จุดประกายต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ได้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นวันหยุดงานประจำปี โดยวันที่ 4 มีนาคม จะเป็นวันนัดร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดนัดเฉลิมฉลองสังสรรค์ จัดที่ ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน

ภายหลัง “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” เข้าร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 และยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน ย่างเข้าสู่ปีที่ 67 และจัดประกาศผลรางวัลข่าวดีเด่น แก่นักข่าว, ภาพข่าว ในชื่อรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการยกย่องนักข่าว และช่างภาพที่มีผลงานดีเด่นของปี

ขอให้ “วันนักข่าว” จงเป็นวันแห่งความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นวันแห่งความสามัคคี กลมเกลียวกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเจริญก้าวหน้าของอาชีพหนังสือพิมพ์..

ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย