นายกรัฐมนตรีเชอร์บาฮาดูร์ เดอบา ของเนปาล เผชิญแรงต้านหนักหน่วง ในความพยายามผลักดันเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า จำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,200 ล้านบาท) จากวอชิงตัน ให้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา

รัฐบาลเนปาลจะนำเงินช่วยเหลือ จากสำนักงานความร่วมมือต่อสู้ความท้าทายแห่งสหัสวรรษ​ หรือ เอ็มซีซี (Millennium Challenge Corporation : MCC) ไปใช้จ่ายในโครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รวมถึง สร้างเสาส่งกระแสไฟฟ้าขนาด 400 กิโลโวลต์ ระยะทาง 300 กิโลเมตร​ ไปถึงเขตแดนด้านอินเดีย และซ่อมแซมปรับปรุงถนนหลายสายทั่วประเทศ

เอ็มซีซี ชื่อนี้ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่คุ้นเคย เป็นองค์กรช่วยเหลือต่างชาติแบบทวิภาคี ก่อตั้งโดยสภาคองเกรสสหรัฐ เมื่อเดือน ม.ค. 2547 ในยุคของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีเป้าหมายเพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11 เอ็มซีซีเป็นหน่วยงานอิสระ แยกต่างหากจากกระทรวงการต่างประเทศ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา​ หรือ ยูเอสเอด (USAID)

ปัจจุบัน เอ็มซีซีมีหุ้นส่วนรับความช่วยเหลือเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก รวมเงินทุนทั้งหมดประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (421,032ล้านบาท)

South China Morning Post

ค่าใช้จ่ายในโดรงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคของเนปาลตั้งไว้ 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอีก 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ ที่เหลือรัฐบาลเนปาลควักออกสมทบ โครงการจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ เอ็มซีเอ-เนปาล (MillenniumChallenge Account Nepal Development Board)

รัฐบาลเนปาลและรัฐบาลสหรัฐบอกว่า เงินช่วยเหลือ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเอ็มซีซี เป็นเงินช่วยแบบให้เปล่า และไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

แม้การปรับปรุงสาธารณูปโภค เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศยากจน ประชากร 30 ล้านคนบนเทือกเขาหิมาลัย แต่การรับบริจาคจากสหรัฐ ได้กลายเป็นชนวนขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองในประเทศ และทำให้โลกภายนอกได้เห็นชัดว่า เนปาลเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิสงครามตัวแทน การแผ่ขยายอิทธิพลของ 2 ชาติมหาอำนาจโลกคู่แข่ง ในปัจจุบัน นั่นคือสหรัฐกับจีน

จึงไม่น่าแปลกใจที่แรงต่อต้านเงินช่วยเหลือจากสหรัฐในเนปาล มาจากกลุ่มการเมืองนิยมจีน นำโดยแกนหลักฝ่ายค้านพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล และหลายพรรคร่วมรัฐบาลผสมของเดอบา ซึ่งกล่าวว่า การรับเงินบริจาคจะทำให้เนปาลถูกดึงเข้าสู่ “วงจรความมั่นคง” ของอเมริกา ซึ่งนั่นหมายถึงภัยคุกคามจะเกิดขึ้นกับจีน ประเทศเพื่อนบ้านของเนปาล รั้วติดกันทางทิศเหนือ จากการที่ สหรัฐอาจมีวาระซ่อนเร้น ในการนำอุปกรณ์ทางทหารเข้ามาติดตั้งในเนปาล

ฝ่ายต่อต้านยังบอกอีกว่าความร่วมมือในโครงการนี้ “บ่อนทำลายกฎหมาย” และจะทำให้เนปาล “สูญเสียอำนาจอธิปไตย” เนื่องจากการวิเคราะห์พบว่า รัฐบาลเนปาลมีบทบาทน้อยมาก ในการควบคุมดูแลโครงการทั้งหมด

โครงการนี้รัฐบาลเนปาลและเอ็มซีซีลงนามข้อตกลงเมื่อปี 2560 หลังการเจรจานานหลายปี และเพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่เนปาลจะเข้าร่วมโครงการริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน

เงินบริจาคของสหรัฐทำให้เกิดความขัดแย้งหนักทางการเมืองในเนปาล และอาจคว่ำรัฐบาลผสมของเดอบาวัย 75 ปี ผู้นำพรรคการเมืองสายกลาง “เนปาลี คองเกรส” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลฏีกา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน​ ก.ค.ปีที่แล้ว เพื่อยุติความปั่นป่วนทางการเมืองนานหลายเดือน.

เลนซ์ซูม