ก่อนที่นายอาลี บาเกรี คานี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจา จะเดินทางกลับกรุงเตหะราน ในวันที่ 23 ก.พ. เพื่อไป “ปรึกษาหารือกับรัฐบาล” พร้อมกับคำพูดทิ้งท้ายว่า การเจรจาได้เข้าสู่จุด “อ่อนไหวและสำคัญมาก”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่ง ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ว่า การเจรจาถึงจุดนี้ ยังมีหลายประเด็นร้ายแรง ที่ยากลำบากมาก

การเจรจารอบล่าสุด ซึ่งเริ่มเมื่อกว่า 10 เดือนก่อน เป้าหมายโดยรวมคือ กลับคืนสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์เดิมในปี 2558 ซึ่งกำหนดให้กลุ่มชาติตะวันตก ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน รวมถึงมาตรการที่จำกัดการขายน้ำมัน เพื่อแลกกับอิหร่านจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งยืดระยะเวลาที่อิหร่านจำเป็นต้องใช้ ในการสกัดยูเรเนียม เกรดสูงเพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ หากอิหร่านเลือกที่จะทำ

วันที่ 8 พ.ค. 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐในขณะนั้น ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 และประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน สร้างความเสียหายหนักต่อเศรษฐกิจและการเงินเตหะราน และฝ่ายหลังตอบโต้ด้วยการเริ่มละเมิดเงื่อนไขบางส่วน ในข้อตกลง

สหรัฐและกลุ่มชาติมหาอำนาจหุ้นส่วน ที่เข้าร่วมการเจรจา ซึ่งประกอบด้วย จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอรมนี กำหนดขีดเส้นตาย “อย่างไม่เป็นทางการ” ภายในสิ้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หากอิหร่านยังสานต่อ การขยายปริมาณและคุณภาพของวัสดุฟิชไซร์ (fissile material) หรือวัสดุที่สามารถสร่างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้ ที่กำลังผลิตอยู่ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตระเบิดนิวเคลียร์ การกลับคืนของข้อตกลงปี 2558 ก็ไร้ความหมาย

สหรัฐเข้าร่วมการเจรจากับอิหร่านในรอบนี้ โดยทางอ้อม เนื่องจากอิหร่านปฏิเสธที่จะนั่งโต๊ะเผชิญหน้าเจรจา กับคณะผู้แทนจากวอชิงตัน

FRANCE 24 English

นายฮอสเซน อามีรับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่า การเจรจาเข้าสู่ขั้นตอนอ่อนไหว และอิหร่านยังไม่แน่ใจว่า ฝ่ายตะวันตกจะใช้วิธีการที่ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ในการฝ่าประเด็นสำคัญที่ยังเหลืออยู่ พร้อมกับยืนยันว่า อิหร่านจะไม่ยอมอ่อนข้อ ถอยจาก “ขีดเส้นแดง” ที่กำหนดไว้โดยเด็ดขาด

การเจรจารอบนี้ดำเนินไป ท่ามกลางความวิตกกังวลของอิสราเอล ประเทศศัตรูตัวฉกาจของอิหร่าน โดยนายกรัฐมนตรี นาฟตาลี เบนเนตต์ ของอิสราเอล กล่าวว่า หากการเจรจาบรรลุข้อตกลงกันได้ มีความเป็นไปได้สูง ที่ตะวันออกกลางจะเกิดความรุนแรง และผันผวนมากกว่าเดิม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของรัฐบาลอิสราเอล อายุที่เหลืออยู่ไม่นาน ของข้อตกลงนิวเคลียร์ 2558 อาจจะไม่เพียงพอหยุดยั้งอิหร่านในระยะยาว โดยเฉพาะหลังจากอิหร่านมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ในระยะหลายปีที่ผ่านมา อีกอย่างยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ตามข้อตกลงใหม่ อิหร่านต้องทิ้งยูเรเนียมเกรดสูงที่สกัดได้ก่อนหน้านี้หรือไม่

อิหร่านยังกลัวว่า การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร หลังบรรลุข้อตกลง เงินอิหร่านหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกอายัด และปล่อยออกมา จะถูกนำไปใช้ในการเพิ่มเงินสนับสนุนและติดอาวุธ แก่กลุ่มติดอาวุธตัวแทนอิหร่านทั่วตะวันออกกลาง เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และ 2 กลุ่มหัวรุนแรงของชาวปาเลสไตน์คือ ฮามาส และจีฮัด ในฉนวนกาซา ซึ่งล้วนแต่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับรัฐชาวยิว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS