อย่างที่เห็นข่าวแทบจะทุกพุธ พฤหัสบดีในสัปดาห์นี้ ว่า สภาล่มบ่อยเหลือเกิน จนได้ยินบางคนพูดหนักกว่า “ส.ส.พวกนี้ทำงานไม่คุ้มภาษี” ไปถึงขั้น “ให้โอกาสที่จะมีเกียรติ ให้โอกาสที่จะหากิน (ในความหมายดีหรือไม่ดีไปคิดเองนะ) แล้ว ก็ยังไม่ประชุมสภา ให้กฎหมายมันผ่านๆ” ดูแล้วสันหลังยาวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน (ก็บ้านเราเอะอะๆ ก็ชอบอ้างอย่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน) ทางฝ่ายขั้วรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุม เขาก็บอกว่า “กฎหมายสำคัญของรัฐบาลผ่านแล้ว ไอ้ที่ล่มๆ มันคือพวกรับฟังรายงานต่างๆ ของ กมธ.”
แล้วรายงานพวกนั้นไม่สำคัญหรือ ? มันใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย ถ้าเห็นว่าไม่ต้องอยู่ฟังก็ยกเลิกไปเลยดีไหมการให้ กมธ.ไปศึกษาอะไรมา ..ด้านฝ่ายค้านโดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย ก็ประกาศจะไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม เพื่อกดดันให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยุบสภาให้ได้ ขณะที่ พรรคก้าวไกล บางช่วงก็ออกมาค้านมติพรรคร่วมฝ่ายค้านบ้าง บอกจะทำภาพลักษณ์สภาพังยับเยิน
ก็มีผู้หวังดีออกมาแนะนำ เรื่องการป้องกันองค์ประชุมสภาล่ม ตั้งแต่ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ที่ถ้าไม่ลงมติเป็นจำนวนกี่ครั้งๆ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ที่น่าสนใจแนะนำเป็นทางการที่สุดคือข้อเสนอของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ซึ่งน่าสนใจอยู่ เพราะนายสมชายเคยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องลดโทษให้นักโทษคดีทุจริตแบบลดแลกแจกแถม จนจาก 40 กว่าปี นักโทษคดีจำนำข้าวเหลือติดตะรางคนละไม่กี่ปีมาแล้ว ซึ่งมันทำให้การปราบโกงไม่เข้มขลังพอ การเคลื่อนไหวของนายสมชายมีผลพอที่นายกฯ จะตั้งกรรมการทบทวนเรื่องการอภัยโทษ
นายสมชาย ระบุว่า ประชาชนสามารถยื่นเอาผิด ส.ส.กับ ป.ป.ช.ได้ ในกรณีไม่ประชุมสภา ถือว่า “ขัดต่อจริยธรรมทางการเมือง” ซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลแล้วเสนอศาลฎีกาดำเนิน การถอดถอนรวมทั้งตัดสิทธิเล่นการเมืองได้ถึง 10 ปี ซึ่งการจะเอาผิดนั้น นายสมชายว่า เริ่มจากการไปขอรายชื่อ ส.ส.ที่โดดประชุมจากสภามาก่อน แล้วดู “ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563″ (ส.ส.ใช้มาตรฐานจริยธรรมเดียวกับองค์กรอิสระ)
- หมวด 1 ข้อ 4 ให้นำมาตรฐานทาง จริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ตามบัญชีท้ายข้อบังคับนี้ มาใช้บังคับแก่ สมาชิก (ส.ส.) และกรรมาธิการด้วย ตามมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
- ข้อ 7 สมาชิกและกรรมาธิการต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเคร่งครัด
- ข้อ 8 สมาชิกและกรรมาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเสียสละ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด
หมวด 2 จริยธรรมอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและกรรมาธิการ
- ข้อ 14 สมาชิกและกรรมาธิการต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยคำนึงถึงการตรงต่อเวลา และต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่ในกรณีเจ็บป่วย หรือมีเหตุสุดวิสัย (ข้อนี้ค่อนข้างตรงกับกรณีไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม)
ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ที่บังคับใช้กับ ส.ส.ด้วย มีอะไรบ้าง ที่ใช้ร้องกรณีโดดประชุมได้ เริ่มจากหมวด 1
- ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
- ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
- หมวด 3
- ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
- ข้อ 22 อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ ส่วนตัวหรือผู้อื่น
ซึ่งเรื่องขัดมาตรฐานจริยธรรมนี้ ป.ป.ช.มีสิทธิพิจารณาให้ความเห็นว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อำนาจตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาตรา 87 หากพบว่ามีมูล ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งถ้าศาลฎีการับวินิจฉัยเมื่อไร ก็ต้องมาลุ้นว่า ส.ส.จะต้องโดนพักงานหรือไม่
ก็น่าจะเอามาใช้ดัดหลังพวกชอบโดดประชุมสภา แต่ขณะเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยนัก โดยบอกผ่านคนสนิท คือ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์มาว่า ขอบคุณ ส.ว.ที่แสดงความห่วงใย แนะนำว่าวิจารณ์ได้ แต่ไม่ประสงค์จะให้ใครมาก้าวก่ายงานของสภา ที่แนะนำให้มีการแก้ระเบียบของสภา คงไม่ได้มีความจำเป็น เพราะระเบียบไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสุดท้ายประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขาดูอยู่ ชาวบ้านจะใช้ดุลพินิจตัดสินเองในวันที่เขาได้เข้าคูหา อย่าด้อยค่าสภาผู้แทนราษฎรพร่ำเพรื่อ เพราะอย่างไรสภาคือเสาหลักของประชาธิปไตย
นายอิสระ ระบุว่า “นายชวนย้ำว่า สมาชิกส่วนใหญ่ยังร่วมมือด้วยดี โดยภาพรวมเชื่อมั่นภารกิจและกิจการของฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ โดยเฉพาะจนถึงปัจจุบันร่างกฎหมายอันเป็นกลไกเครื่องมือของภาครัฐ ก็สามารถผ่านไปได้ทุกฉบับ ไม่มีตกค้าง ที่ต้องขออภัยก็คือหน่วยงานของรัฐที่มารอชี้แจงที่สภา ต้องเสียเวลาเนื่องจากสภาล่มหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันโดยมองผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด”
ก็คือรอดูเป็นกรณีไปแล้วกันว่าถ้ากฎหมายฉบับไหนฝ่ายการเมืองได้หน้า หรือได้ประโยชน์ ก็คงทำงานกันเองแหละกระมัง หรือเอาจริง มันก็น่าสนใจว่าเกมทำสภาล่มรัวๆ นี่จะสามารถกดดันนายกฯ ให้ยุบสภาได้หรือไม่
เผื่อเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของวงการการเมือง ถึงวิธีกดดันฝ่ายบริหารในภาวะเสียงปริ่มๆ.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”