เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ได้รับผลกระทบหนักมาก จากการระบาดของโควิด-19 และขณะที่หลายประเทศเจ้าหนี้ร่ำรวย ให้โอกาสกลุ่มประเทศยากจนสุดได้ผ่อนคลายชั่วคราว ผ่านโครงการระงับการชำระหนี้ ของกลุ่มประเทศรายได้น้อยที่มีประวัติดี หรือ ดีเอสเอสไอ (Debt Service Suspension Initiative : DSSI) แต่โครงการกำลังจะหมดอายุ และกลุ่มชาติยากจนต้องชำระหนี้ต่อ

คำเตือนจากเจดีซี สะท้อนเสียงเรียกร้องลงมือปฏิบัติการ เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จากธนาคารโลก ซึ่งระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ประมาณ 60% ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ ประสบปัญหา หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ

ไฮดี เชา ผู้อำนวยการบริหารของเจดีซี กล่าวว่า วิกฤติหนี้สินยังคงครอบงำ กลุ่มประเทศรายได้ต่ำกว่า และไม่มีวี่แววยุติ เว้นแต่จะมีการผ่อนปรน หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยรีบด่วน

ข้อมูลของเจดีซี แสดงให้เห็นว่า การชำระหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา “ประเทศหนึ่ง” สูงขึ้น 12% ระหว่างปี 2553–2564 ระดับสูงสุดของประเทศ นับตั้งแต่ปี 2544

การชำระหนี้ต่างประเทศโดยเฉลี่ยของรัฐบาล อยู่ที่ 14.3% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมดในปี 2564 กว่า 2 เท่าของปี 2553 ซี่งอยู่ที่ 6.8%

คาดกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้สินหนักขึ้นอีก สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

จากการศึกษาของเจดีซี พบว่า ล่าสุดทั่วโลกมี 54 ประเทศ อยู่ในภาวะวิกฤติหนี้ ซึ่งหมายความว่า การชำระหนี้กำลังทำลายความสามารถของรัฐบาล ในการปกป้องเศรษฐกิจพื้นฐาน และสิทธิทางสังคม ของพลเมืองในประเทศ

เคนยาและมาลาวี 2 ประเทศทางฟากตะวันออกของทวีปแอฟริกา เข้าสู่ภาวะวิกฤติหนี้สินในปีนี้ ส่วนอีก 14 ประเทศเสี่ยงเข้าสู่วิกฤติ ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชน

นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวเตือนในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ความเชื่องช้าในการผ่อนปรนหนี้ ให้ประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะผิดนัดชำระหนี้

จากข้อมูลของธนาคารโลก ปีนี้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำสุด 74 ประเทศของโลก ถึงกำหนดชำระคืน จำนวนรวม 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,159,880 ล้านบาท) สูงขึ้น 45% จากตัวเลขของปี 2563 โดยหนี้ที่ต้องชำระทั้งหมดในปีนี้ ประมาณ 37% หรือ 13,100 ล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนของจีน

ปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อนุมัติงบประมาณพิเศษ จำนวน 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสิทธิพิเศษถอนเงิน เพื่อกระตุ้นทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน สเตอร์ลิง และหยวน

งบจัดสรร 275,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนดังกล่าว สำหรับช่วยเหลือตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ

ไอเอ็มเอฟยังได้เสนอให้ก่อตั้ง กองทุนเพื่อความยืดหยุ่นและความยั่งยืน (Resilience and Sustainability Trust) จำนวนวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้น้อย ถึงรายได้ปานกลาง ที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการปฏิรูปโครงสร้าง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อรักษาความมั่นคงด้านดุลการชำระเงิน ของแต่ละประเทศ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES