มีคำถามจากผู้ใช้รถรายหนึ่งสรุปได้ว่า ใช้รถกระบะเกียร์ธรรมดา มาเกือบ 8 ปี วิ่งไป 1.1 แสนกิโลเมตร แต่ระยะหลัง ๆ มีความรู้สึกว่าขับขึ้นที่สูงกำลังจะตก เมื่อเร่งเครื่องรอบขึ้นแต่รถกลับวิ่งไม่ค่อยไป ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใดและต้องแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูล ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก “คลัตช์” หมด ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงประสบพบเจอกันมาบ้างแต่ขณะเดียวกันเชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคยอาการดังกล่าว วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักกับ ลางบอกเหตุก่อน “คลัตช์” กลับบ้านเก่า

“คลัตช์” (Clutch) คือระบบส่งกำลัง มีทำหน้าที่ตัด-ต่อการส่งกำลังจากเครื่องยนต์สู่ชุดเกียร์ ในรถเกียร์ธรรมดาจังหวะการเหยียบคลัตช์ คือการตัดการส่งกำลัง ทำให้ สามารถเปลี่ยนเกียร์หรือเข้าเกียร์ได้อย่างนิ่มนวล และจะต่อการส่งกำลังอีกครั้งเมื่อปล่อยคลัตช์ ขณะที่เกียร์ออโต้ คลัตช์ จะทำงานอัตโนมัติ ตามจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ ที่อาศัย ความเร็วรอบเครื่องยนต์-ความเร็วของตัวรถ-แรงกดคัน เร่ง ส่งสัญญาณผ่านเซ็นเซอร์ ให้กล่องควบคุมสั่งการ โดยปกติอายุไขของผ้าคลัตช์ในเกียร์ธรรมดาจะอยู่ที่ 8 หมื่น-1.5 แสนกิโลเมตร ส่วนเกียร์ออโตเมติก 1.5-2 แสนกิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตาม อาจใช้งานได้มากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับลักษณะการการขับขี่

การใช้งานคลัตช์ที่ถูกวิธี
-ควรออกตัวรถด้วยเกียร์ 1 เสมอเพื่อลดภาระของชุดคลัตช์
-เมื่อเปลี่ยนเกียร์ควรเหยียบคลัตช์ให้สุด แล้วปล่อยช้า ๆ เมื่อขับขี่รถบนทางลาดชัน อย่าเหยียบคลัตช์แช่หรือเลี้ยงคลัตช์ เพราะจะทำให้ผ้าคลัตช์สึกหรอมากกว่าปกติ
-หลีกเลี่ยงการพักเท้าที่แป้นคลัตช์ เพราะแค่น้ำหนักเท้าก็ส่งผลให้เกิดแรงกดทำให้ผ้าคลัตช์สึกหรอเร็วขึ้น
-เมื่อต้องเบรกกะทันหัน ไม่ควรเหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรก เพราะเมื่อเหยียบคลัตช์ก็เปรียบเสมือนอยู่ในเกียร์ว่างรถจะไม่เกาะถนน เสี่ยงต่อการเสียหลัก-ลื่น-หมุนได้ง่าย และยังเป็นการเพิ่มภาระให้เบรกด้วย
-ควรหลีกเลี่ยงการเข็นกระตุกเพื่อติดเครื่อง ในกรณีแบตเตอรี่หมดเพราะจะทำให้สปริงจานคลัตช์และผ้าคลัตช์เสียหายได้
-ไม่ควรเปลี่ยนยางที่มีเส้นรอบวงใหญ่ขึ้นกว่าเดิมจนมากเกินไป เนื่องจากการอัตราทดของเกียร์และเฟืองท้ายไม่รองรับส่งผลให้ชุดคลัตช์ต้องรับภาระที่หนักและสึกหรอเร็วขึ้น

ลางบอกเหตุก่อน “คลัตช์” โบกมือลา
-คลัตช์ลื่น เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ 1.คลัตช์หมด-ใกล้หมด สาเหตุใหญ่มาจากผ้าคลัตช์ที่เริ่มบางลงจนอาจถึงหมุดที่ย้ำตัวผ้าไว้กับจาน ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานรอบสูงขึ้นแต่ความเร็วต่ำกว่าปกติ หรือรถไม่มีกำลังเมื่อขึ้นทางชัน 2.เกิดจาการขับขี่ที่รุนแรง -การตั้งระยะคลัตช์ไม่เหมาะสมจนเกิดการยัน และลื่นจนไหม้ในที่สุด ทั้งนี้ล้อช่วยแรง-หวีคลัตช์-ผ้าคลัตช์ ที่เกิดรอยไหม้แล้วนั้นจะส่งผลให้คลัตช์ลื่นอยู่ตลอด วิธีแก้ไขคือต้องเปลี่ยนผ้าคลัตช์ใหม่ ขณะที่หวีคลัตช์จะเปลี่ยนหรือเจียรปรับหน้าใหม่ก็ได้ ส่วนล้อช่วยแรงให้เจียรใหม่
-คลัตช์สั่น ส่วนใหญ่เกิดจากหน้าสัมผัสระหว่าง หวีคลัตช์-ผ้าคลัตช์- ล้อช่วยแรง ไม่เรียบส่งผลให้ขณะออกตัวรถเกิดอาการสั่นหรือกระตุก วิธีแก้ไขคือ เปลี่ยนผ้าคลัตช์ใหม่ หวีคลัตช์จะเปลี่ยนหรือเจียรใหม่ก็ได้ ส่วนล้อช่วยแรงให้เจียรใหม่
-คลัตช์พัง เกิดได้จากหลายสาเหตุอาทิ สปริงจานคลัตช์หลุด-หัก หมุดที่ย้ำผ้าคลัตช์แตกออก ลูกปืนคลัตช์แตก ทำให้รถเข้าเกียรไม่ได้ วิธีแก้ไขคือ ยกคลัตช์ชุดใหม่

ทั้งนี้ การตรวจสอบคลัตช์ลื่นรถเกียร์ธรรมดา ให้สตาร์ตเครื่อง ปลดเบรกมือ เข้าเกียร์ 4 ค่อยๆ ปล่อยคลัตช์ โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง ถ้าเครื่องดับแสดงว่าคลัตช์ยังปกติดี แต่ถ้าไม่ดับแสดงว่าคลัตช์ลื่นครับ..

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]