ร่วมเป็นสักขีพยาน

วันนี้ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารกัลยาณิวัฒนา ชั้น 9 โรงพยาบาลสงฆ์ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยาน การบริจาคที่ดินของคุณอุไรศรี-คุณอุไรรัตน์-รศ.ดร.อุไรวรรณ คนึงสุขเกษม ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 124 ไร่เศษ ให้แก่กรมการแพทย์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และสถานดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร โดยมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในการรับทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จากคุณอุไรศรี คนึงสุขเกษม และครอบครัว ซึ่งบริจาคที่ดินบริเวณบ้านหันสัง หมู่ที่ 3 ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่รวมจำนวน 124 ไร่เศษ ให้แก่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสาธารณประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง“ผิวหนัง-ดวงตา-ข้อและกระดูก การฟื้นฟูสมรรถภาพ-ฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร” คาดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเมื่อแล้วเสร็จ สถานที่แห่งนี้จะสามารถรองรับการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางได้มากขึ้น

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับที่ดินที่ได้รับ เบื้องต้นทางกรมการแพทย์ได้จัดทำร่างผังแม่บทไว้แล้ว แบ่งออกเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูทางการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และสถานที่ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ในอนาคตมีแผนขยายศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางให้ครอบคลุมทุกด้านต่อไป (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ราชทัณฑ์ปันสุข

พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อให้คำแนะนำการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ ภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พ.อ.ตรีพจน์ โพธิสอน ฝ่ายเลขานุการ ศอ.จอส.พระราชทาน ภาค 1 นายเทวพงศ์พันธ์ เมืองยม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และจิตอาสา 904 ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลพื้นที่ในการบริหารจัดการน้ำเสียภายในในพื้นที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

มอบสิ่งของ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ผู้ประสบอัคคีภัย จำนวน 2 ครอบครัว โดยมี นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายสมยศ เกษสุวรรณ นายอำเภอบางบาล นายสมร่าง จำนงค์ศิลป์ ปลัดอำเภอลาดบัวหลวง ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฯ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี

ดังนี้ ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จัดพิธีมอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ นายสุรัตน์ วรลักษณ์สิทธิ์ ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยเลขที่ 14/1 ประสบอัคคีภัย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 23.50 น. ได้รับความเสียหายบางส่วน มีผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3 คน และ ที่หมู่ที่ 3 ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง จัดพิธีมอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ นายสมศักดิ์ ตระกูลสกุลเลิศ ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยเลขที่ 23/3 ประสบอัคคีภัย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 เวลา 07.00 น. ได้รับความเสียหายทั้งหลัง มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 7 คน การได้รับสิ่งของพระราชทาน ทั้ง 2 ครอบครัวดังกล่าว ต่างทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภก แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นล้นพ้น (ศูนย์ภาคกลาง)

รำลึกเสด็จบ้านตาคลี

นายอมร บริรักษ์เลิศ นายอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรคต์ เป็นประธานเปิดงาน 65 ปี ย้อนรำลึก รัชกาลที่ 9 ณ วงเวียนสถานีรถไฟบ้านตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนางเพลินพิศ ศรีภพ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี และสมาชิกสภาเทศบาลเมืองตาคลี ผู้นำท้องถิ่นและท่านผู้มีเกียรติร่วมงานมากมาย รายงานว่าด้วยเทศบาลเมืองตาคลี ได้กำหนดจัดงาน 65 ปี ย้อนรำลึก รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินบ้านตาคลี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดกรุงเทพมหานคร มาที่สถานีรถไฟบ้านตาคลี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งพระองค์ได้ลงรถไฟพระที่นั่งเพื่อเสด็จทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวบ้านตาคลีในขณะนั้น อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวตาคลี ในขณะนั้น ได้กำหนดจัดงาน “65 ปี ย้อนรำลึก รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินบ้านตาคลี” จำนวน 3 วัน คือ ในวันที่ 7 วันที่ 8 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างเวลา 18.00-21.00 น. ณ บริเวณวงเวียนหลังสถานีรถไฟบ้านตาคลี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

เพื่อจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเชิดชูในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย เพื่อให้ประชาชนในเขตอำเภอตาคลี ได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการบอกกล่าว เล่าขาน สืบสานประวัติศาสตร์ความมงคลต่อปลื้มปีติยินดีของชาวตาคลี ที่ได้รับเสด็จอย่างใกล้ชิดอันเป็นมหามงคลตราบจนถึงทุกวันนี้ และยังจัดถนนคนเดินนัดพิเศษ จำนวน 1 วัน (หนังสั้น) เรื่องที่นี่ตาคลีเล่าขาน จำนวน 3 วัน คือ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่าง 18.00-21.00 น นอกจากนั้น ชมนิทรรศการจำนวน 3 วัน คือวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างเวลา 18.00-21.00 น. นอกจากนั้นการจำหน่ายภาพวาดในหลวงรัชกาลที่ 9 จากฝีมือการวาดของนักศึกษา ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมด จะมอบให้เป็นทุนการศึกษา 1 วัน คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ตั้งแต่ 18.00-21.00 น. ต่อไป (นายกิตติ์ธเนศ พัวพรพงษ์ / นครสวรรค์)

ช่วยกาชาด

ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายนิวัตน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี รับมอบเงินสดและสิ่งของบริโภคจาก คณะแม่บ้าน และครอบครัวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จังหวัดลพบุรี โดยนางสายปัญญา ชุติธนธีระกุล ประธานคณะแม่บ้านฯ นางปรางค์ทิพย์ พงศ์บุตร รองประธานคณะแม่บ้านฯ พร้อมคณะกรรมการ ใน “วันรวมน้ำใจให้เหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี” เพื่อนำสิ่งของดังกล่าวให้การช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี ซึ่งนายนิวัตน์ ได้ชื่นชม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นอย่างมาก ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนภารกิจของจังหวัดลพบุรีหลายด้าน รวมทั้งภารกิจของสำนักงานเหล่ากาชาด ที่มีการบริจาคโลหิตช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

ม.ราชภัฏอยุธยา จัดวิ่ง

ราชภัฎพระนครศรีอยุธยา จัดวิ่งมาราธอน ครั้งที่ 1 ยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จัดการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน Ayutthaya World Heritage ARU RUN 2022 ครั้งที่ 1 โดยมี นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย นายวิทยา บุรณศิริ นายกสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดี กล่าวรายงาน ภายในงานได้รับเกียรติจากหน่วยราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน ให้การสนับสนุนในงานนี้

สำหรับการแข่งขัน เริ่มตั้งแต่เวลา 04.30-08.00 น. โดยแบ่งเป็น 4 ระยะวิ่ง ได้แก่ มินิมาราธอน ระยะทาง 10.5 กม. และ ฟันรัน ระยะทาง 5 กม. แฟมิลี่รัน 2.7 กม. และวีไอพี โดยจัดการแข่งขันตามเส้นทางเมืองมรดกโลก ในคอนเซปต์ “ชมเมืองเก่า บอกเล่าความงาม พระปรางค์วัดวัง บนเส้นทางแห่งเมืองมรดกโลก”

การจัดการแข่งขันมินิมาราธอนในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทุนสนับสนุนการจัดการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการวิ่งออกกำลังกาย และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ โบราณสถานของอยุธยาเมืองมรดกโลก

และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางคณะผู้จัดงานมีความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ร่วมงานในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการดำเนินการ จัดงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยมีการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับนักวิ่งทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขัน (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ตามรอยพ่อฯ ปี 9

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.15 น. นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน ร่วมพิธีปล่อยขบวนจักรยานรณรงค์ ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 9 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (อ.ยักษ์) เป็นประธาน อันเป็นจุดเริ่มต้นกิจกรรมของโครงการฯ โดยขบวนจักรยานเริ่มต้นจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ผ่านพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง อันเป็นแก้มลิงเก็บน้ำสำคัญของจังหวัด ไปยัง โคกหนองนาโปรดปัน ต.ระโสม อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 119 กม. โดยมี พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า เลขานุการคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บ.เชฟรอนประเทศไทย จำกัด ร่วมในขบวนจักรยาน ณ ศูนย์ศิลปาชีพกาะเกิด ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดซมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ตามแผนหลัก 9 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 3 ปี ระยะแรก คือ การตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2 การแตกตัว เป็นการขยายผล สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันใด 9 ขั้นไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คนโครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราขาต่อไป (ศูนย์ภาคกลาง)

คว้าที่ 3

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิกานต์ สุวรรณประทีป ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า การจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” หรือ “Ranking Web of World Universities” จัดทำโดย Cybermetrics Lab หรือ Internet Lab เป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน โดยมีการประกาศผลการจัดอันดับเว็บไซต์ 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเดือนมกราคมและช่วงเดือนกรกฎาคม ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.webometrics.info ซึ่งการประกาศผลการจัดอันดับเป็นเพียงดัชนีชี้วัดความสามารถในการผลิต Web Publications และความเป็น Open Access ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ซึ่งเป็นการวัดผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากการวัดด้วยดัชนีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและการอ้างอิงผลงานวิจัย แบบที่เรารู้จักกันดี ที่เรียกว่า Bibliometric Indicators เท่านั้น หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือ วัดความสามารถในการเป็น “มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University)”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิกานต์ สุวรรณประทีบ กล่าวต่อว่า การจัดอันดับรอบเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ผลการจัดอันดับ มทร.สุวรรณภูมิ อยู่อันดับที่ 9 ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาการเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของบุคลากรให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในระบบฐานข้อมูลของ Google Scholar และ Scopus ซึ่งผลการจัดอันดับรอบที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 มทร.สุวรรณภูมิ คว้าอันดับที่ 3 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อยู่อันดับที่ 10 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และอยู่ในอันดับที่ 47 จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และอันดับที่ 5,934 ของมหาวิทยาลัยโลก อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยยังมีแผนพัฒนาการดำเนินการตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของ Webometrics อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ต่อไป (เผอิญ- วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ฉลองตรุษจีน

อยุธยาซิตี้พาร์ค ยกขบวนมังกรทองสิงโตแจกของมงคล พร้อมโชว์ตระการตาอวยพรมั่งคั่งโชคดีมีสุข ผู้บริหารศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค นำโดย ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่นำขบวนแห่มังกรทอง 2 ตัว พร้อมด้วยคณะเชิดสิงโตและนางฟ้า เดินรอบศูนย์การค้าฯ เพื่อมอบวัตถุมงคลให้แก่พันธมิตรใหญ่ โลตัส โรบินสัน โรงภาพยนตร์อยุธยาซิตี้พาร์คซีนีเพล็กซ์ และผู้ประกอบการร้านค้ากว่า 500 ร้านค้า อวยพรมั่งคั่งร่ำรวยเนื่องในเทศกาลตรุษจีนปีเสือทอง พร้อมจัดการแสดงสุดหวาดเสียว “มังกรทองลอยฟ้า นาจาระเบิดถ้ำ” กับมังกรทองประดับไฟ LED พันเสา, มังกรลอดม่านน้ำตก, กายกรรมต่อตัว, สิงโตปักกิ่ง, สิงโตไต่ไม้สะพานมฤตยู ฯลฯ มาให้ชมกันอย่างจุใจ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ประชาชนที่เข้ามาเดินจับจ่ายซื้อของในวันเที่ยวของเทศกาลตรุษจีนเป็นอย่างมาก (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

เข้มน้ำแล้ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2564/65 ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยมี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์น้ำ ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความจุเก็บกัก 960 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 676 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ซึ่งได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามแผนบริหารความเสี่ยง ด้วยการเพิ่มศักยภาพการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก โดยเตรียมความพร้อมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก หากระดับน้ำในแม่เจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระดับต่ำกว่า +13.00 ม.รทก. พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา ด้วยการจัดสรรน้ำแบบรอบเวรการใช้น้ำในคลอง ชัยนาท-ป่าสัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการลำเลียงน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าไปเติมให้กับแม่น้ำบางขาม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย

ด้านแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบอาคารถาวรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เพื่อให้สามารถสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำรวม-เขื่อนภูมิพล” สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลปีละประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอด (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

ชุมชนพอเพียง

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 53 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ภายใต้แนวคิด “รวมพลัง อช. แก้จนพัฒนาคน สร้างชุมชนพอเพียง” ณ ศาลาศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรม ศูนย์ส่งเสริมพุทธธรรมนำชีวิต วัดศรีปทุม (ลำบัว) หมู่ 8 อำเภอนองแค จังหวัดสระบุรี

โดยมีการจัดกิจกรมทางศาสนาถวายผ้าป่าสมทบกองทุนชมรมผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี ถวายเพลพระสงฆ์ กิจกรรมแสดงพลังอาสาพัฒนาชุมชน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทำความสะอาดวัด การกล่าวคำปฏิญาณตนเพื่อสืบสานต่อพระราชปณิธานของ ”พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” การมอบเกียรติบัตรให้กับ ผู้นำ อช. ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2563-2564 จำนวน 52 คน โดยมอบผ่านผู้แทนนำไปมอบต่อในระดับอำเภอ การมอบเงิน เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ครัวเรือนยากจน 4 ครัวเรือน ของตำบลหนองจรเข้ เทศบาลตำบลหนองแค ตำบลกุ่มหัก ตำบลหนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

ขอบคุณ

คุณคมสัน ธรสารสมบัติ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการบริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) มอบกระเช้า ของขวัญ อวยพรปีใหม่ ให้กับ ชาญ ชูกลิ่น ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็วๆ นี้ (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

ครบรอบ 61 ปี

ดร.กุสุมาวดี คีรี ผู้อำนวยการ และคณะครูนักเรียนพร้อมด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนประเทียบวิทยาทาน และผู้มีเกียรติร่วมกันประกอบพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนประเทียบวิทยาทาน ครบ 61 ปี และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนจำนวน 199 คน เป็นเงิน 199,000 บาท โดยมีนายสันทัศน์ รันดาเว นายอำเภอวิหารแดง เป็นประธานในพิธี และมีนายธนวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนประเทียบวิทยาทาน และผู้มีอุปการคุณ ร่วมบริจาคทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในครั้งนี้ด้วย ณ หอประชุมโรงเรียนประเทียบวิทยาทานจังหวัดสระบุรี (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)