การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัดริบบิ้นรับมอบ “รถจักรดีเซลไฟฟ้า” (Diesel Electric Locomotive) ใหม่ ส่งตรงจากประเทศจีน ลอตแรก 20 คัน จาก กิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ตามโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท ที่สถานีรถไฟศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ปิดภารกิจที่ดำเนินการมานับ 10 ปี กว่าที่ รฟท.จะได้รถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า รถจักรดีเซลไฟฟ้าที่รับมอบครั้งนี้ เป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ผลิตโดย บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน และมีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานอย่างยาวนาน โดยบางคันมีการใช้งานมากกว่า 50 ปี จึงถือเป็นการพลิกโฉมการให้บริการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการรถไฟฯ ที่จะช่วยให้มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าได้มากขึ้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต
“รถจักรดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีโครงสร้างภายนอกที่แข็งแรง และมีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ช่วยให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มีความรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของ รฟท. ตลอดจนเสริมศักยภาพการขนส่งทางรางให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดีด้วย”
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า การได้รับรถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ เป็นความสำเร็จเบื้องต้นของ รฟท. แต่หลังจากนี้ สิ่งที่เราต้องพิสูจน์ต่อไปคือ จะนำรถเหล่านี้มาเพิ่มศักยภาพในการให้บริการได้อย่างไร โดยเฉพาะปัจจุบันที่การขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร เน้นระบบรางมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญว่า รฟท. จะสามารถใช้โอกาสนี้ได้อย่างเต็มที่หรือไม่
หัวรถจักรถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญ หากเก่าทรุดโทรม และไม่จัดหามาเพิ่ม จะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ที่ขณะนี้ รฟท. กำลังเร่งดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1, รถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
จุดเด่นของรถจักรดีเซลไฟฟ้าถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ 3,263 แรงม้า (2,400 กิโลวัตต์) มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กม.ต่อ ชม. นอกจากนี้มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection – ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System: ETCS) รวมถึงมีเครื่องยนต์รถจักรผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย
ด้านนายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า หลังจากนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ทดสอบสมรรถนะ และระบบต่างๆ อาทิ ระบบเครื่องยนต์, ไฟฟ้า, เบรก และความปลอดภัย โดยทดสอบทีละคันทั้ง 20 คัน จะไม่ใช้วิธีสุ่มตรวจ ซึ่งจะตรวจสอบทั้งแบบรถจักรอยู่กับที่ และรถจักรเคลื่อนที่ ด้วยการลากรถสินค้า และรถโดยสาร
เงื่อนไขการตรวจรับรถ ต้องมีการทดสอบทั้งวิ่งรถเปล่า และลากขบวนรถโดยสาร โดยเฉพาะเส้นทางเชียงใหม่ด้วย เพื่อทดสอบการเคลื่อนที่แบบขึ้นเขา ทั้งนี้คาดว่าจะทดสอบแล้วเสร็จ และสามารถนำมาใช้ลากจูงขบวนรถได้ในเดือน พ.ค.65 สำหรับการใช้หัวรถจักรของ รฟท. นั้น ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 250 หัวต่อวัน
ในส่วนของรถจักรดีเซลไฟฟ้า ลอตที่ 2 อีก 30 คัน คาดว่ากิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ จะสามารถส่งมอบให้ รฟท. ได้ในปลายปี 65 เบื้องต้น รฟท. จะนำรถจักรดีเซลไฟฟ้าลอตแรก มาใช้งานกับขบวนรถโดยสารก่อน สามารถขึ้นให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อได้ด้วย
รถจักรสามารถลากจูงตู้รถโดยไม่ต้องใช้รถพ่วง 2 หัวเหมือนในปัจจุบัน ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันได้มาก โดยลากจูงโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) ได้ 33 คัน 2,100 ตัน และรถตู้โดยสาร 13 คัน 550 ตัน นอกจากนี้มีจุดเด่นที่ต่างจากรถจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ มีระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) มาตรฐานควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถมากขึ้น
นายศิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า การรับมอบรถจักรใหม่ครั้งนี้เกิดขึ้นในรอบ 7 ปี ก่อนหน้านี้ รฟท. ได้รับมอบรถจักร U-20 มีน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน เพื่อใช้ลากจูงสินค้า เมื่อปี 58 หลังจากนั้นก็ยังไม่มีการรับมอบหัวรถจักรใหม่อีกเลย
รถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ นอกจากมีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังออกแบบรูปลักษณ์ที่มีความทันสมัย ด้วยโทนสีแดง เทา และริ้วขาวเล็กน้อย สื่อถึงอัตลักษณ์ตัวตนของ รฟท. ได้เป็นอย่างดี โดยหลายคนมองว่าคล้ายกับอุลตร้าแมน ทั้งนี้ รฟท. กำหนดหมายเลขรุ่นประจำรถจักรคือ 5201 ถึง 5250 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเลขที่รันต่อจากรถจักรรุ่นก่อนหน้านี้ U-20 ที่มีเลขรหัส 5101-5120
พลิกโฉมรถไฟไทย ด้วย “รถจักรดีเซลไฟฟ้า”…อุลตร้าแมน รหัสใหม่ 5201-5250
————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง