ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์สะท้อนว่า ทั้งความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการออกกฎหมายดูแลรองรับ ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ของคนบางกลุ่ม ยังต้องพยายามปรับจูนให้เข้าที่เข้าทาง
ต้องยอมรับว่าคลิปเหตุการณ์คนดังแสดงอาการคึกคะนอง คล้ายคนเมาขณะขับรถหลังกินใบกระท่อม เป็นหนึ่งตัวอย่าง แม้ตามกฎหมายการใช้กระท่อมจะไม่มีความผิด แต่มองแล้วเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม และสร้างปมถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้กับภาพลักษณ์พืชกระท่อม ซึ่งถูกตั้งคำถามสถานะขณะนี้ กำลังไปถูกทางแล้วหรือไม่…
ในประเด็นนี้มี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ออกมาชี้แจงในทันทีว่า เจตนาของการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษก็เพื่อต้องการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคได้ตามวิถีชาวบ้าน มีการซื้อขายโดยไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่นๆ เช่น 4×100 ยังถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ข้อมูลกองควบคุมวัตถุออกเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุถึงผลการใช้ใบกระท่อมว่าหลังเคี้ยวไป 5-10 นาที จะเริ่มมีอาการกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร กดความรู้สึกเหนื่อยล้า ทำให้ทำงานได้นาน ทนแดดมากขึ้น แต่เมื่อกินในปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีผลต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ ป.ป.ส.ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการคึกคะนอง และความประมาท โดยก่อนหน้าปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นยาเสพติดเคยขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อสอบถามถึงสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากการเสพ/ใช้ใบกระท่อม
คำตอบตรงกันคือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะที่เกิดการใช้ใบกระท่อมเกิดขึ้น ดังนั้น เชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นมาจากความประมาท อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ พร้อมขอให้เข้าใจถึงแนวทางการปรับนโยบายใช้ประโยชน์ ไม่ใช่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีกฎหมายขึ้นมาควบคุมการใช้ในทางที่ผิด
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นนอกจากพฤติกรรมล่อแหลมไม่เหมาะสมซึ่งบางคนแยกแยะได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน กลายเป็นข้อกังวลที่สังคมห่วงใย และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้นอีก
เช่นเดียวกับกระบวนการออกกฎหมายเฉพาะดูคล้ายสะดุดขากันเอง ส่งผลให้ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … ที่ยกร่างเนื้อหาแบบก้าวหน้า ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่พอเข้าสู่วุฒิสภา มีการปรับปรุงแก้ไขหลายประเด็นที่มีข้อสังเกตไม่ก้าวหน้าไปพร้อมสถานะใหม่
โดยเฉพาะการแก้ไขให้ห้ามขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่สวนทางวิถีปัจจุบัน และขัดกับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้หลังจากนี้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา เพื่อเคาะ “หน้าตา” กฎหมายให้ได้ข้อยุติอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ในรายงานการประเมินประโยชน์และผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้พืชกระท่อมในประชาชนพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เคยมีข้อมูลประมาณการใช้กระท่อมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554-2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 มีผู้ใช้กระท่อมทั้งประเทศ 2.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.8 ของประชากรอายุ 12-65 ปี สะท้อนตัวเลขผู้เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมที่มีจำนวนไม่น้อยในสังคม
การใช้มีหลายรูปแบบทั้งเป็นยาบำบัดโรคและรักษาผู้ป่วยตามภูมิปัญญา และตำรับยาโบราณที่มีอยู่หลายขนาน อาทิ แก้ท้องร่วงอย่างแรง ยาประสะกาฬแดง แก้บิด แก้ปวดมวน รักษาอาการท้องร่วง เบาหวาน ปวดเมื่อย และนิยมเคี้ยวใบสด ในกลุ่มใช้แรงงานซึ่งใช้เฉลี่ยวันละ 10-60 ใบ ส่วนที่เป็นปัญหาคือกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมนำไปผสมแบบค็อกเทล เป็น 4×100 ซึ่งพบการแพร่ระบาดหนักพื้นที่ภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2547
ปัจจุบันพืชกระท่อมสำหรับพื้นที่เดิมอาจไม่น่ากังวลเท่าพื้นที่ใหม่ และคนใหม่ๆ นาทีนี้ยิ่งกลไกตามมาช้า ก็ไม่รู้ว่าจะมีพฤติกรรมแผลงๆ แบบใดเกิดขึ้นอีก.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน