ไม่ผิดจากที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลาย ๆ คนได้มีการคาดการณ์กันไว้…ถึงกรณี “ปัญหาการคุกคามทางเพศบนโลกไซเบอร์ ที่นับวันจะ “มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆเป็นอีกหนึ่ง “ปรากฏการณ์คู่ขนาน ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่ “เทคโนโลยีไฮเทคพัฒนามากขึ้น” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแส “คุกคามทางเพศในโลกเสมือนจริง” บน “เมตาเวิร์ส” ที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีกระแสหญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งระบุว่าตนเอง “ถูกลวนลามในโลกเสมือนจริง??” จาก “กลุ่มอวาตาร์เพศชาย 3-4 คน” ซึ่งกรณีแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วอาจมิใช่แค่เรื่องในโลกไซเบอร์!!…

แม้ผู้ถูกกระทำ “ออกจากพื้นที่ออนไลน์” แล้ว…

แต่…ก็อาจไม่หายหวาดผวา” กับสิ่งที่ได้ประสบ

ถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ “อาจกระทบโลกจริง!!

ทั้งนี้ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มิใช่เพิ่งจะมามีหลังมีแพลตฟอร์มใหม่ดังกล่าวข้างต้น โลกยุคที่มี “โลกเสมือนจริง” ซ้อนทับอยู่ด้วย “เทคโนโลยีล้ำหน้า” นั้น กับพฤติกรรมที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการ “คุกคามทางเพศ-ลวนลามทางเพศ…บนโลกออนไลน์-โลกไซเบอร์” ปรากฏขึ้นมานานระยะหนึ่งแล้ว และนับวันก็ดูจะแตกแขนงมากมาย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยนำมาสะท้อนไปบ้างแล้ว โดยหวังให้สังคมไทยตระหนักถึง “ภัย!!-อันตราย!!” อีกรูปแบบที่ “มาพร้อมกับเทคโนโลยี“ โดยเฉพาะกรณี “ถูกล่อลวงให้โชว์สยิว-โชว์โป๊” “ถูกบันทึกภาพหรือคลิปวิดีโอไว้เพื่อข่มขู่!!”

ที่มีศัพท์เฉพาะเรียกภัยรูปแบบนี้ว่า…“Sextortion

ยึดโยงกับลักษณะการ “ถูกข่มขู่กรรโชกทางเพศ!!

สะท้อนเน้นย้ำกันไว้… “ภัยล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์” นั้น มีข้อมูลโดย คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ที่ได้รวบรวมกรณีเกี่ยวกับ “ภัย” ลักษณะนี้ หรือที่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “Sextortion” โดยมีการระบุไว้ว่า…การกระทำที่พบบ่อยจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ “มิจฉาชีพ” มักจะ “สร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อล่อลวง ทางโซเชียลมีเดีย จะดึงดูดความสนใจเหยื่อ ที่มักเป็นเด็ก เยาวชน แล้วจะลวงให้เหยื่อหลงเชื่อยอมเข้าไปพูดคุย จากนั้นก็จะล่อลวงให้ถ่ายให้ส่งภาพหรือคลิปโป๊เปลือยไปให้ แล้วก็จะนำไปใช้ในทางร้าย ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ส่งต่อ หรือนำไป ขาย

รวมถึง…“ใช้ขู่กรรโชกเพื่อเรียกเงินจากเหยื่อ!!

“เหยื่อมักกลัวเสียชื่อเสียงจึงยอมทำตาม แต่การขู่กรรโชกมักไม่จบแค่นี้ มิจฉาชีพมักมีข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ต้องการนัดพบ และบังคับให้เหยื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหากเหยื่อหลงเชื่อว่าจะจบ ก็จะยิ่งนำไปสู่กรณีที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น โดยอาจถูกถ่ายภาพหรืออัดคลิปซ้ำขณะที่โดนข่มขืน!!”…นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของ ’ภัยทางเพศที่มาทางโลกไซเบอร์“ ที่นับวันจะเป็น “ปรากฏการณ์ด้านร้าย” ที่มีแนวโน้มจะเกิด “มากขึ้น-แรงขึ้น” บน “โลกเสมือนจริง” ที่ยุคนี้มี “ควบคู่โลกจริง”

ปรากฏการณ์ “คุกคามทางเพศบนพื้นที่เสมือนจริง” นี้ เรื่องนี้ก็มีแง่มุมน่าพิจารณาโดย ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เขียนบทความเรื่องนี้ไว้ในเว็บไซต์ https://tu.ac.th ว่า… “การคุกคามทางเพศออนไลน์ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำว่า… “Online Sexual Harassment หรือ
“Cyber Sexual Harassment ที่หมายถึง…การกระทำในช่องทางการสื่อสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศที่ทำต่อผู้อื่นโดยที่คน ๆ นั้นไม่ต้องการ ไม่ยินยอม ไม่พร้อม จนส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกกระทำ…

ทางนักวิชาการท่านนี้ได้สะท้อนถึงเรื่องนี้เอาไว้ต่อไปว่า… ในโลกออนไลน์นั้น เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง? ฉะนั้นการคุกคามทางเพศจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งหลายคนอาจจะมองการกระทำหรือพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติในโลกออนไลน์ แต่กับ “มุมของผู้ที่ถูกกระทำ” แล้ว…การถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น จะรู้สึกทุกข์ทรมานมาก!! ที่สำคัญ ไม่สามารถหยุดการกระทำเหล่านั้นได้ในทันทีทันใด และผู้ถูกกระทำอาจ ไม่รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากใคร? หรือ ไม่รู้ว่าจะจัดการกับการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นได้อย่างไร? …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากแง่มุมที่บทความนี้ได้ชี้ไว้ให้เห็นถึง “ปัญหา” เรื่องนี้

พร้อมกันนี้ยังได้ระบุถึง รูปแบบการคุกคามทางเพศออนไลน์ ไว้ว่า…มีอยู่หลากหลายรูปแบบ อาทิ… 1.รูปแบบของตัวอักษร ด้วยการพิมพ์คอมเมนต์เพื่อสื่อสารถึงผู้ถูกกระทำ เช่น ขอจุดจุดจุดหน่อย, อยากกอด 2.รูปแบบการใช้สัญลักษณ์ อย่างการใช้ Emoji แปะที่อวัยวะบางส่วนของภาพผู้ถูกกระทำ เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ 3.รูปแบบการสื่อสารตรงไปที่ผู้รับสาร เช่น ส่งสื่อโป๊ไปให้ผู้ถูกกระทำ หรือแม้แต่การชักชวนไปมีเพศสัมพันธ์ …นี่เป็นตัวอย่างรูปแบบการ “คุกคาม

“มีงานวิจัยจำนวนมาก พบว่า… การคุกคามทางเพศออนไลน์ กับการคุกคามทางเพศในโลกจริง มีจุดที่เชื่อมต่อกันได้ กล่าวคือ อาจมีการคุกคามทางเพศในพื้นที่จริงก่อน เช่น ในห้อง บนเตียงนอน หรือสถานที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงเกิดการนำเอาไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงต่อ หรือบางกรณี เกิดในโลกออนไลน์ก่อน แล้วไปเกิดในโลกจริงซ้ำอีก ซึ่งนี่คือจุดที่เชื่อมต่อกัน” …นี่เป็น “จุดเชื่อมต่อที่น่ากลัว!! ที่ในบทความโดย ผศ.รณภูมิ ได้สะท้อนไว้

“คุกคามทางเพศคู่ขนาน” เกิด “ในโลกเสมือนจริง

เป็นอันตรายที่ “เชื่อมต่อภัยร้าย” ได้ “ในโลกจริง

และ “ในสังคมไทย” ก็ “นับวันจะยิ่งน่ากลัว!!”.