ผ่านพ้นเดือนแรก ปี 2565 ซึ่งตรงกับปีเสือ (ขาล) ช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องค่อนข้างหดหู่ใจไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่อง เสือ ๆ ต้องยอมรับว่า นาน ๆ ครั้งจะได้เห็นข่าว เสือโคร่ง ถูกนายพรานหรือชาวบ้านฆ่า ครั้งเดียวถึง 2 ตัว กลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความเศร้าทั้งบรรดานักอนุรักษ์ รวมถึงประชาชนทั้งประเทศที่ได้ทราบข่าว

เสือโคร่งที่ถูกยิงตาย เป็น เพศผู้ และ เพศเมีย กำลังเริ่มโตเป็นหนุ่มสาว ต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือชาวบ้าน เพียงแค่ความแค้นเพราะถูกเสือบุกมาขย้ำกินวัวควายไปหลายตัวที่นำไปเลี้ยงไว้ แนวชายป่าหมู่ 4 ต.ปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และเขตติดต่อ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

หลังเกิดเหตุ ฆ่าเสือโคร่ง 2 ตัว นอกจากกลุ่มผู้กระทำผิดซึ่งก็เป็น 5 ชาวบ้าน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปิล็อกคี่ จะถูกดำเนินคดีแล้ว  กรมอุทยานแห่งชาติ ยังงัดกฎเหล็กมาเล่นงานถึงขั้นสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนทั้งหมดออกจากพื้นที่อุทยานฯเพราะได้ร่วมกัน กระทำผิดมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ระบุไว้ว่า ถ้ากระทำการใด ๆ เป็นการทำลาย หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า หรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ สั่งให้ผู้กระทำความผิดออกจากพื้นที่ ทำลาย รื้อถอน และหรือดำเนินการอื่น ๆ ตามกฎหมายกำหนด

ผ่านพ้นเหตุฆ่าเสือโคร่ง 2 ตัวมาแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น  ก็ยังมาเกิดเรื่องเสือ ๆ ขึ้นมาเป็นที่ระทึกขวัญอีก คราวนี้ไม่ใช่เสือตาย แต่คนถูกเสือรุมกัดปางตาย!! จุดเกิดเหตุ เสือขย้ำกัดคน ที่บริเวณ แนว ๆ ชายป่าห้วยสะมะท้อ หมู่ 4 ต.ปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ อยู่ห่างจากจุดที่เสือ 2 ตัวถูกฆ่าตายแค่ 2 กม.เป็นพื้นที่รอยต่ออุทยานฯเขาแหลม-อุทยานฯทองผาภูมิ ส่วนเหยื่อที่ถูกกัดเป็น ชาวบ้านปิล็อกคี่ ซึ่งเดินไปดูควายที่ปล่อยเลี้ยงเอาไว้  มีสุนัขตามไปด้วย 3 ตัว จู่ ๆ ถูก เสือโคร่ง 3 ตัว จู่โจมโดดขย้ำคอชาวบ้าน ยังดีได้สุนัข 3 ตัวช่วยสู้ ชาวบ้านเลยหนีตายปีนขึ้นบนต้นไม้ แต่เสือขย้ำสุนัขตายไป 2 ตัวก่อนกลับเข้าป่า ชาวบ้านเลยรีบหนีออกมาสภาพเลือดโซมกายอาการสาหัส ถูกกัดลำคอ แขน ขา บาดแผลทั่วร่าง

ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา ส่วนหนึ่งเชื่อว่า มันย้อนกลับมาแก้แค้นแทนเพื่อน 2 ตัวที่ถูกมนุษย์ฆ่าขณะที่บางฝ่ายก็มองว่า เสือโผล่มาป้วนเปี้ยนเยอะผิดปกติ ตอนนี้นับได้ถึง 5 ตัว ก็เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์จาก ฝูงวัว-ควาย ที่ชาวบ้านนำไปปล่อยเลี้ยงตะเข็บป่า ก็ไม่แตกต่างจาก ช้างป่า ที่โผล่ออกมาหากินพืชไร่ ผลไม้ชาวบ้านที่ปลูกใกล้ตะเข็บผืนป่า แต่การที่ได้พบ เสือโคร่งชุกชุม มากขึ้นในบริเวณผืนป่าฝั่งตะวันตก ถือเป็นดัชนีตัวหนึ่ง ที่ช่วยชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เสือคือเจ้าป่า นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงเปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศแห่งพงไพร ควบคุมสายใยอาหารในป่าทั้งที่เป็น นักล่า หรือ เหยื่อ สร้างความหลากหลายให้ระบบนิเวศ

ข้อมูลที่รายงานในวันเสือโคร่งโลก เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีเสือโคร่งอยู่ในธรรมชาติ ประมาณ 177 ตัว เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 20 ตัว พบมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รองลงมาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน

การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย ด้าน การอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 (The 4th Asia Ministerial Conference on Tiger Conservation) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่งได้กำหนดเป้าหมาย “TX2” เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มประชากรเสือโคร่งให้ได้เป็น 2 เท่า จากจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลก เหลืออยู่ 3,200 ตัว

เหตุการณ์เสือโคร่งมากถึง 5 ตัวมาโผล่ในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านปิล็อกคี่ จึงไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด!! นอกจากกระทรวงทรัพยากรฯที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าโดยตรงแล้ว กระทรวงเกษตรฯควรโดดเข้าไปร่วมด้วย ในเมื่อพบว่ายังมีชาวบ้านนำวัว-ควาย ไปเลี้ยงใกล้ ๆ ตะเข็บป่านั้น อาจจะส่งผลกระทบไปยัง สัตว์กีบ อื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ โรคอุบัติใหม่ ลัมปีสกิน เคยตรวจเจอทั้งใน วัวแดง ป่าห้วยขาแข้ง และ กระทิง ป่ากุยบุรี ต้นตอก็เชื่อว่าแพร่เชื้อมาจากวัว-ควายชาวบ้าน ดังนั้นต้องเร่งงัดมาตรการเข้มงวดจริงจังในทุก ๆ มิติ อย่าปล่อยให้บานปลายระบาดเงียบแบบ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF).

——————————
เชิงผา