สิ้นสุดการรอคอย! เมื่อสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD 6260 กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง (ยะลา) แลนด์ดิ้งท่าอากาศยานเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรกของท่าอากาศยานเบตง (สนามบิน) ใหม่ล่าสุด ลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หลังจากก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 62 และมีแผนจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน มิ.ย.63

สาเหตุที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผน  เนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอเปิดบริการออกไป และเมื่อจะกลับมาเปิดอีกครั้งช่วงเดือน ธ.ค.63 สำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจพบข้อบกพร่องด้านการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน 72 ข้อ ทำให้ ทย. ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ ที่จะอนุญาตให้เป็นสนามบินสาธารณะ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Public Aerodrome Aerodrome Operating Certificate: PAOC) แก่ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา แล้ว ท่าอากาศยานเบตง สามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ได้ตามกฎหมายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และสายการบินเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำได้เมื่อใดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งพิจารณา

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เป็นเอกสารที่ยืนยันได้ถึงมาตรฐานความปลอดภัย และความพร้อมของท่าอากาศยานเบตง และยังถือเป็นท่าอากาศยานแห่งแรกที่ได้รับมอบใบรับรองนี้ภายหลังการจัดตั้ง กพท. ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยกระบวนการใหม่ตามมาตรฐานสากล 

ท่าอากาศยานเบตง จะให้บริการสาธารณะแก่อากาศยานภายในประเทศ ในช่วงเวลา 08.00-17.00 น. สามารถรองรับเครื่องบินที่ขนาดสูงสุด คือ ATR-72 และเครื่องบิน Q-400 ที่มีความจุผู้โดยสารประมาณ 80 ที่นั่ง

ทย.ได้ทดลองเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานเบตง  โดยให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ใช้อากาศยานแบบ Q-400 ความจุผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทาง ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ท่าอากาศยานเบตง มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านกายภาพ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการ ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรฐานความปลอดภัยของ กพท. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ท่าอากาศยานเบตง ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สายการบินนกแอร์จึงได้ขออนุญาตทำการบินแบบเช่าเหมาลำ เส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง-กรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ และสรุปข้อตกลงสำหรับการเปิดทำการบินแบบประจำ (Schedule Flight) ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1.หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2.ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง

ทย. กระทรวงคมนาคม ได้ก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.58 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายให้หน่วยงานดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการเปิดเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำ กระทรวงคมนาคม ทย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมสรุปข้อมูลภายหลังจากเที่ยวบินทดลองนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายอีกครั้ง และเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน ตามนโยบาย รมว.คมนาคม ที่ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ให้ประชาชนเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ท่าอากาศยานเบตง มีพื้นที่ 920 ไร่ เริ่มก่อสร้างปี 59 แล้วเสร็จปี 62 วงเงินก่อสร้างกว่า 1,900 ล้านบาท ขนาดทางวิ่ง (รันเวย์) กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินขนาด 94 x 180 เมตร รองรับเครื่องบินขนาด ATR72 ได้ 3 ลำ และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบพื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อ ชม. อยู่ระหว่างออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายความยาวรันเวย์จาก 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร  เพิ่มขีดความสามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้

 สาเหตุที่ไม่สร้างรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตรไปในคราวเดียวไม่ต้องมาขยายเพิ่มเติมอีก เนื่องจากการออกแบบรันเวย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็น การศึกษาเมื่อปี 50 พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินในขนาดรันเวย์ที่ 1,800 เมตร รองรับได้อย่างเพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไปการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเปลี่ยนไปจึงขยายเพิ่มในคราวหลัง

กรณีกระทรวงคมนาคมขอรับสนับสนุนการเปิดบริการท่าอากาศยานเบตงนั้น นายอริย์ธัช ก้องเกียรติชัย ที่ปรึกษาสมาชิกวุฒิสภา และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ยะลา บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) มีมติอนุมัติหลักการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายให้ ทย. สำหรับเปิดบริการท่าอากาศยานเบตงช่วง 2 ปีแรก (ปี 65-66) ในกรอบวงเงินไม่เกิน 19 ล้านบาท หรือปีละ 9.5 ล้านบาท

โดยปีงบประมาณ 65 ให้ ทย. ปรับแผนดำเนินงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หากงบฯดำเนินการไม่เพียงพอ ให้เสนอขอรับการสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และในปีงบฯ 66 ให้ ทย. จัดทำคำของบฯรายจ่ายประจำปี เพื่อสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง บรรลุผลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง